บางแคภาพจำลองสมุทรสาคร หมอธีระวัฒน์แนะก้าวข้ามตรวจเชิงรุกแบบแยงจมูก

16 มี.ค. 2564 | 01:55 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มี.ค. 2564 | 09:03 น.

บางแคคือภาพจำลองของสมุทรสาคร หมอธีระวัฒน์แนะก้าวข้ามการตรวจเชิงรุกแบบแยงจมูก เหตุมีความผิดพลาดมาก

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha) โดยมีข้อความว่า บางแคคือภาพจำลองของสมุทรสาคร 16/3/64

              นี่เป็นการพิสูจน์รูปแบบ ”กระจุกและสามารถกระจาย” ไปได้ทั่ว โดยผ่านทางผู้แพร่เชื้อที่ไม่มีอาการ การตรวจเชิงรุกที่แท้จริงต้องก้าวข้ามข้อจำกัดในการตรวจที่ทำปกติในขณะนี้ ที่หาเชื้อโดยการแยงจมูก ซึ่งมีความผิดพลาดตรวจไม่เจอ ได้มาก

              ทั้งนี้จากความจริงที่ว่า ทำไมในผู้ที่กลับจากต่างประเทศยังคงต้องการตรวจแยงจมูกถึงอย่างน้อยสามครั้งในช่วงกักตัว 14 วัน ด้วยซ้ำ และบทเรียนจากสมุทรสาครหลังจากที่มีการกักตัวผู้ที่ตรวจแยงจมูกครั้งเดียว และกลุ่มที่เหลือให้มีการทำงานต่อเท่ากับปล่อยให้มีการแพร่เชื้อในหมู่กันเองและหกสัปดาห์หลังจากปลายเดือนมกราคม ปรากฏมีผู้ติดเชื้อและแพร่เชื้อได้เพิ่มขึ้นอีก

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

              วิกฤตของการปล่อยให้มีการแพร่เชื้อแม้จะไม่มีอาการ ก็คือ เป็นการเปิดโอกาสให้ไวรัสมีการผันแปรหน้าตาผิดเพี้ยนออกไปเรื่อยๆ  และอีกประการหนึ่งก็คือเมื่อถึงระดับที่แพร่เข้าไปในกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวและไม่แข็งแรงจะแสดงอาการขึ้นมาทันทีและเกิดเป็นอาการหนักต้องเข้าโรงพยาบาลมากขึ้นเรื่อยๆ

หัวใจของการควบคุมจำกัดการระบาดและป้องกัน หลังจากที่มีประสบการณ์ตั้งแต่มกราคม 2563 ก็คือ ตรวจด้วยวิธีที่เข้าถึงได้ทุกคน ในเวลารวดเร็ว ประหยัดและไม่หลุด หลังจากนั้นแยกตัว และขณะเดียวกัน ได้รับวัคซีนในประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้รับทราบแล้วว่า กลุ่มใดประเภทใดจะเหมาะกับวัคซีนชนิดไหน ที่สามารถลดทอนผลข้างเคียงให้มากที่สุด

              นั่นคือกลุ่มผู้สูงวัย มีโรคประจำตัว ที่ติดเชื้อง่าย เสียชีวิตได้เมื่อติดเชื้อ กลับจะได้รับผลแทรกซ้อนจากวัคซีนมากที่สุด ดังนั้นในกลุ่มนี้น่าจะหันไปเลือกวัคซีนที่เป็นเชื้อตายหรือเป็นโปรตีนมากกว่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :