ตามส่องความคืบหน้าการพัฒนา “ยารักษาโควิด-19” ผลงานของจีนและสหรัฐ

29 มี.ค. 2564 | 09:45 น.

โลกอาจจะตื่นเต้นกับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่บรรดาผู้ผลิตทยอยเปิดตัวออกมา แต่ยังมีอีกนวัตกรรมเกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 ที่เราต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ การพัฒนา “ยา” เพราะเมื่อมีเครื่องมือในการป้องกัน คือ วัคซีน แล้ว ก็ต้องมี “ยา” สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ

ความคืบหน้าเกี่ยวกับการพัฒนา ยารักษาผู้ป่วยโควิด-19 นั้น มาจากทั้งประเทศในโลกตะวันออก คือ จีน และตะวันตก คือ สหรัฐอเมริกา เริ่มจากจีน ซึ่งเมื่อเร็ว ๆนี้ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สถาบันมาเทอเรีย เมดิกาแห่งนครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Institute of Materia Medica) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) ได้เผยแพร่รายงานชิ้นหนึ่งระบุว่า ยารักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ "โควิด-19" ตัวหนึ่งของจีน ได้เข้าสู่ขั้นตอนการทดลองทางคลินิกในสหรัฐอเมริกาแล้ว หลังได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐ

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA)

ข่าวระบุว่า สำนักบริหารผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์แห่งชาติ (NMPA) ของจีน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA)ของสหรัฐได้ยื่นขอใบอนุญาตการวิจัยทางคลินิกสำหรับยาตัวดังกล่าว ซึ่งใช้รหัส “ดีซี402234” (DC402234) เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา (2563) ต่อมาเมื่อวันจันทร์ที่ 15 มี.ค. 2564 คณะนักวิจัยได้เริ่มการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 สำหรับยาตัวดังกล่าวที่ศูนย์วิจัยทางคลินิกแห่งหนึ่งของบริษัทฟรอนเทจ แลบอราทอรีส์ (Frontage Laboratories) ซึ่งมีฐานที่ตั้งอยู่ในรัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา

ยาที่มีการจดสิทธิบัตรแล้วตัวนี้ เป็นผลงานการพัฒนาร่วมกันระหว่างคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เทค (ShanghaiTech University) และสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น (WIV) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เป็นสารประกอบใหม่ที่ถูกออกแบบและสังเคราะห์จากโครงสร้างผลึกของเอนไซม์โปรตีเอส (Protease) ของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ SARS-Co V-2 ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีบทบาทสำคัญเพราะเป็นตัวกลางที่เอื้อให้ไวรัสเพิ่มจำนวนและแบ่งตัว โดยการวิจัยก่อนการทดสอบในมนุษย์พบว่า สารประกอบข้างต้นแสดงฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส และแสดงฤทธิ์ต่อต้านไวรัสได้ดีในการเพาะเซลล์

ยาดังกล่าวยังมีคุณสมบัติทาง “เภสัชจลนศาสตร์” (pharmacokinetics)ที่ดี ซึ่งหมายถึงวิธีที่ยาจะดูดซึมและเคลื่อนตัวในร่างกายรวมถึงความปลอดภัยจากการทดสอบในสัตว์ ยังบ่งชี้ถึงศักยภาพของยาตัวนี้ในการทดสอบทางคลินิกในขั้นต่อไปด้วย

ตามส่องความคืบหน้าการพัฒนา “ยารักษาโควิด-19” ผลงานของจีนและสหรัฐ

ผลการทดลองข้างต้นถูกรายงานในเอกสารที่มีชื่อว่า "การออกแบบจากโครงสร้างของยาด้านไวรัสที่มุ่งเป้าไปยังเอนไซม์โปรตีเอสของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่" (Structure-based design of antiviral drug candidates targeting the SARS-CoV-2 main protease) ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เป็นบทความบนหน้าปกของวารสารไซแอนซ์ (Science) ประจำเดือนกรกฎาคม 2563

ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับยารักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในฝั่งสหรัฐนั้น มาจาก บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ได้รับการอนุมัติใช้ในหลายประเทศแล้ว และเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน 

ไฟเซอร์ระบุว่า ยารักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่บริษัทกำลังวิจัยและกำลังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการทดลองด้านความปลอดภัยในมนุษย์  เป็นยาที่มุ่งเข้าไปออกฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนและแบ่งตัวของไวรัส จึงเหมาะใช้กับผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มเป็นหรือเพิ่งแสดงอาการเริ่มต้นว่าป่วย นับเป็นยาที่มุ่งตัดไฟแต่ต้นลมซึ่งจะช่วยให้โรงพยาบาลไม่ต้องแน่นขนัดไปด้วยผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนักหรือรุนแรงเกินกว่าที่จะรักษาอยู่กับบ้าน ทั้งนี้ ผลการทดลองอาจต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดไทม์ไลน์ “กาฬสินธุ์ไข่แตก” พบผู้ติดเชื้อหญิงรายแรกของจังหวัด

ยอดติดเชื้อโควิด 29 มี.ค.64 รายใหม่ 39 สะสม 28,773 ราย

กทม.พบผู้ป่วยโควิดรายใหม่ 48 ราย จากบางแค 33 ราย

ภูเก็ตระดมฉีดวัคซีน"ทุกคน"รับเปิดเกาะ

ยอดโควิด 29 มี.ค.64 ทั่วโลกผู้ป่วยเพิ่ม 4.69 แสนราย สะสม 127.74 ล้านราย