ปกปิดข้อมูลไทมไลน์ ของผู้ติดเชื้อโควิดมีความผิดหรือไม่ เป็นคำถามที่ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้รับถามจากคุณผู้อ่านมาจำนวนมาก และถามลงลึกอีกว่า แล้วถ้าคนปกปิดเขาเป็นบุคคลระดับวีไอพีหล่ะ จะได้รับการยกเว้นโทษหรือไม่
ฐานเศรษฐกิจ ไม่รอช้า หาคำตอบแล้วพาย้อนไปเมื่อ 28 มกราคม 2564 ต้นปีที่ผ่านมานี่เอง ท่ามกลางการระบาดระลอกใหม่ หรือ ใครจะเรียกว่าระลอกสองก็ตาม ที่ผลพวงมาจากเชื้อร้ายโควิด19 ทะลักมาจากชายแดนเมียนมา มุ่งตรงสู่สมุทรสาคร แตกกระจายไปหลายจังหวัด
ปรากฏว่า มีผู้ติดเชื้อโควิดรายหนึ่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นเคสความเชื่อมโยงกับงานปาร์ตี้ “ดีเจมะตูม” แต่ปรากฏว่า ผู้ติดเชื้อรายนี้ ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลกับ สำนักอนามัย กทม. เดือดร้อนมาถึงส่วนกลาง คือ “กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข” ที่ต้องประสานแจ้งไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เนื่องจากการปกปิดข้อมูลดังกล่าวอาจทำให้โรคโควิด 19 แพร่ระบาดออกไปในวงกว้างและทำให้การป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ล่าช้า ไม่ทันการณ์ได้
ครั้งนั้น นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า กรณีที่มีผู้ป่วยโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เชื่อมโยงกับงานฉลองวันเกิดของดีเจดัง ซึ่งมีบางรายปกปิดข้อมูลในไทม์ไลน์ นั้น กรมควบคุมโรค ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เรื่อง ขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย ลงวันที่ 27 มกราคม 2564
เนื่องจากพบว่ามีบุคคลอื่นซึ่งมีประวัติใกล้ชิดกับดีเจดังติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มขึ้นอีก โดยจากข้อมูลการเดินทางของบุคคลดังกล่าวและบุคคลที่เกี่ยวข้องมีการให้ข้อมูลบางประการที่ไม่สอดคล้องกัน รวมถึงมีการปฏิเสธหรือปกปิดข้อมูลบางส่วนต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจทำให้โรคโควิด 19 แพร่ระบาดไปในวงกว้างและทำให้การป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ล่าช้าและไม่ทันการณ์ได้
จากกรณีดังกล่าว กรมควบคุมโรค ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.กรณีที่บุคคลให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน หรือมีการปฏิเสธหรือปกปิดข้อมูลซึ่งควรต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท รวมถึงอาจมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย
ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และ 2.กรณีสถานที่ซึ่งใช้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนการห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคและไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด รวมถึงกรณีบุคคลที่ร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนการห้ามทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัด ซึ่งเป็นมาตรการตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
แต่การระบาดระลอกสองรอบนั้น กรุงเทพมหานคร ยังไม่ได้คลายล็อกสถานบันเทิงเหมือนตอนนี้ ยังถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ที่ 1/2564 ลงวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2564 โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันและควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
นอกจากนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ยังตรวจสอบบทลงโทษ ในกรณีที่จงใจปิดบังข้อมูลประวัติการเดินทาง จาก “พระราชบัญญัติโรคติดต่อแห่งชาติ พ.ศ.2558” ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 6 มีนาคม 2559 เป็นต้นไป
มาตรา 49 ระบุว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและมาตรา 52 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ก็ถือเป็นความรู้ที่นอกจากผู้อ่านจะต้องรับรู้เอาไว้แล้ว ก็ต้องสอดส่องดูด้วยว่า ใครบ้างหนอ ทั้งคนธรรมดา และวีไอพีหน้าไหน ที่ทำตัวใหญ่เกินกว่ากฎหมาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :