เทียบชัดๆ ไทม์ไลน์ “ศักดิ์สยาม-ผู้ป่วยทั่วไป” ทำไมปกปิดข้อมูล ?

08 เม.ย. 2564 | 03:40 น.
อัปเดตล่าสุด :09 เม.ย. 2564 | 08:17 น.

สังคมกำลังตั้งคำถามกรณีการปกปิดข้อมูลไทม์ไลน์ของ "นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ" ที่ติดโควิด19 ขณะที่ "ผู้ป่วยทั่วไป" เปิดเผยข้อมูลไทม์ไลน์อย่างชัดเจน

ยังคงสร้างความสับสนกับ การปกปิดข้อมูลไทม์ไลน์ ของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพราะดูเหมือนว่าจะไม่เปิดเผยไทม์ไลน์ส่วนตัวออกมา มีเพียงไทม์ไลน์เฉพาะเวลาราชการเท่านั้น  ซึ่งข้อมูลนอกเหนือเวลาราชการเป็นหน้าที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต้องเปิดเผยด้วยตัวเอง 

เมื่อย้อนกลับไปดูจากไทม์ไลน์ที่มีการเปิดเผยมา ในช่วงวันที่ 27-28 มีนาคม 2564 ระบุว่า ไม่มีข้อมูล อาจจะเป็นไปได้หรือไม่ว่าช่วงเวลานี้เป็น “ไทม์ไลน์ส่วนตัว” 

การไม่ให้ข้อมูลได้ด้วยหรือ  เกิดอะไรขึ้น ไปที่ไหน ทำอะไร ทำไมถึงพูดไม่ได้ ทั้งที่เป็นข้าราชการ แบบนี้จะเป็นการไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่ 

หากไม่เปิดเผยไทม์ไลน์ เจ้าหน้าที่จะสามารถสืบหาผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อไปได้อย่างไร การที่ผู้ติดเชื้อไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ส่วนหนึ่งเพราะมองว่าโทษในการจงใจปกปิดข้อมูลน้อยเกินไปหรือไม่ 

นี่คือสิ่งที่สังคมกำลังตั้งคำถามอย่างกว้างขวาง 

เทียบชัดๆ ไทม์ไลน์ “ศักดิ์สยาม-ผู้ป่วยทั่วไป” ทำไมปกปิดข้อมูล  ?

 

แม้แต่นักการเมืองด้วยกันเองหลายคน อาทิ “มาดามเดียร์” เดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็ออกมาจี้ให้นายศักดิ์สยามในฐานะผู้แทนประชาชน และเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารประเทศ เป็นตัวอย่างโดยการเปิดเผยไทม์ไลน์อย่างละเอียดเพราะถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในการปฏิบัติตามกฎหมาย และการมีจิตสำนึกต่อสังคม

"การปกปิดข้อมูลไทม์ไลน์" หากจะอ้างว่าเป็นข้อมูลส่วนตัว แต่เมื่อติดโควิด 19 ก็ต้องทำตามข้อบังคับที่เคยบังคับใช้กับประชาชนด้วยหรือไม่ การสอบสวนโรค การเปิดเผยไทม์ไลน์ไม่ควรเกี่ยวกับว่าเป็นใคร ระดับไหน ก็ต้องถูกปฏิบัติเหมือนกันยิ่งในภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 

อย่างกรณีผู้ติดเชื้อชายวัย 30 ที่เป็นผู้ป่วยรายที่ 216 ของการระบาดระลอกใหม่ มีข้อมูลไทม์ไลน์ส่วนตัวที่ชัดเจนว่า ไปไหน ทำอะไร กับใคร สถานที่ไหน ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนโรคของเจ้าหน้าที่ ทำให้สามารถติดตามผู้สัมผัสเชื้อรายอื่นๆได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะการระบาดที่มาจาก “คลัสเตอร์สถานบันเทิงทองหล่อ” ที่กำลังลุกลามไปทั่วทั้งประเทศชนิดที่เรียกว่าไฟลามกันเลยทีเดียว

ผู้คนจำนวนมากกำลังตั้งข้อสงสัยว่าการจงใจปกปิดข้อมูลไทม์ไลน์แบบนี้มีความผิดหรือไม่ ทำไมไม่มีใครทำอะไรเลย ถ้าผู้ติดเชื้อไม่ยอมให้ข้อมูลกันหมด จะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ที่สำคัญสำหรับข้าราชการ นั่นคือ "ความโปร่งใส" และความน่าเชื่อถือที่ประชาชนจะมีต่อรัฐบาล 

จากนี้ก็คงจะต้องติดตามรายละเอียดข้อมูลไทม์ไลน์ของนายศักดิ์สยาม ว่าจะมีการออกมาแก้ไขข้อมูล เพื่อจะได้รู้ว่าได้สัมผัสเชื้อจากไหนนั้น ซึ่งต้องรอการสอบสวนรายละเอียดของเจ้าหน้าที่

ทั้งนี้ไทม์ไลน์คือรายละเอียดของช่วงเวลาต่างๆ ว่าย้อนหลังไป 14 วันนั้น ผู้ติดโควิด-19 ไปทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง ไปที่ไหนมาบ้าง สิ่งนี้สำคัญมาก เพราะว่าไทม์ไลน์มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก และพวกเขามีความเสี่ยงในการรับเชื้อเช่นกัน

อย่างไรก็ตามการปกปิดไทม์ไลน์ มีความผิดตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดฉุกเฉิน ฉบับที่ 17 และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ระดับความผิดของผู้ที่จงใจบิดเบือนไทม์ไลน์หรือจงใจที่จะปกปิดมีโทษตามกฏหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

รวมข่าว "โควิด-19" วันที่ 8 เม.ย.64 แบบอัพเดทล่าสุด

เปิดโทษ “ปกปิดข้อมูลโควิด” วีไอพีใหญ่กว่ากฎหมายได้ไหมหนอ?

เอาให้ชัด กางไทม์ไลน์ "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" ติดโควิด

ด่วน ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ติดโควิด-19