นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยวานนี้ (11 เม.ย.) ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้กรมการแพทย์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน และ สปสช. จัดระบบ ประสานจัดหาเตียงให้แก่ผู้ป่วยโควิด ที่ไม่มีเตียงในโรงพยาบาลรองรับ โดยจะให้ สายด่วน 1330 ของ สปสช. ร่วมเป็นหน่วยประสานจัดหาเตียงให้แก่ผู้ป่วย โดยเป็นการดำเนินการร่วมกับ สายด่วนกรมการแพทย์ 1668 ในการทำหน้าที่จัดหาเตียงให้กับผู้ติดเชื้อ
ทั้งนี้ เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในรอบปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก การควบคุมโรคจำเป็นต้องมีการตรวจคัดกรองเป็นวงกว้างเพื่อหาตัวผู้ติดเชื้อและนำเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด ทาง สปสช.ขอย้ำว่า ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีอาการป่วย มีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อ เดินทางไปสถานที่ที่มีการระบาด หรือแม้แต่ไม่มีอาการป่วยและไม่แน่ใจว่าติดเชื้อหรือไม่ สามารถเดินทางไปรับการตรวจคัดกรองหรือปรึกษาแพทย์ได้ทั้งที่โรงพยาบาลของรัฐและเอกชน โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น สปสช.จะจ่ายแทนประชาชนให้เอง รวมทั้งหากพบว่าติดเชื้อ สปสช.ก็จ่ายค่ารักษาให้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี เนื่องจากมีจำนวนผู้ไปรับการตรวจมากขึ้น ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาโรงพยาบาลหลายแห่งอาจเกิดความกังวล เพราะเมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อแล้ว โรงพยาบาลจะต้องรับคนๆ นั้นเข้าเป็นผู้ป่วยในการดูแลของตัวเอง จึงอาจกังวลและไม่กล้ารับตรวจเพราะเกรงว่าถ้าตรวจเจอเชื้อแล้วจะไม่มีเตียงรองรับเพียงพอ โดยทางกระทรวงสาธารณสุข ได้จับมือโรงเรียนแพทย์ กรุงเทพมหานคร ตำรวจ กลาโหม และโรงพยาบาลเอกชน เตรียมเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ประสานส่งต่อผู้ป่วยในเครือข่ายหรือข้ามเครือข่ายได้ นอกจากนี้ ยังเปิดสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 ประสานช่วยผู้ติดเชื้อที่ยังหาเตียงรักษาไม่ได้
แต่เนื่องจากสายด่วน 1668 อาจจะยังไม่พอรองรับ นายอนุทิน จึงได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน และ สปสช. จัดสายด่วน 1330 ของ สปสช. ร่วมเป็นหน่วยประสานจัดหาเตียงให้แก่ผู้ป่วยที่ไม่มีเตียงในโรงพยาบาลรองรับอีกช่องทางหนึ่ง โดยเป็นการดำเนินการร่วมกับสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 ทำหน้าที่จัดหาเตียงให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19
จากการหารือระหว่างสปสช. กับ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ในการช่วยดำเนินการดังกล่าว ทางกรมการแพทย์จะส่งจำนวนเตียงว่างทั้งในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามมาให้ สปสช. เพื่อช่วยประสานจัดหาเตียงรองรับผู้ป่วยต่อไป
ยกตัวอย่างเช่น นาย A ไปรับการตรวจที่โรงพยาบาล B แล้วตรวจพบว่ามีเชื้อโควิด-19 แต่ปรากฎว่าโรงพยาบาล B ในขณะนั้นมีผู้ป่วยโควิดจำนวนมากจนเตียงเต็มหมดแล้ว ทำให้ไม่มีเตียงสำหรับนาย A ในโรงพยาบาลนั้น ทางโรงพยาบาลก็สามารถโทรเข้าสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 ได้ หรือหากสายไม่ว่างเนื่องจากคู่สายเต็ม ก็สามารถโทรมาที่สายด่วน สปสช. 1330 เพื่อให้ประสานจัดหาเตียงในโรงพยาบาลอื่นๆ แก่นาย A ได้เลย
และเมื่อ 1330 หาเตียงได้แล้ว ในขั้นตอนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลปลายทาง ก็จะมีรถพยาบาลของ สพฉ. มาช่วยรับส่งให้ โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง
ในส่วนของผู้ป่วยที่ก่อนหน้านี้ไปตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่ รพ.ที่ไปตรวจเตียงเต็ม ส่วนหนึ่งมีกลุ่มที่ไม่มีอาการ ก็สามารถโทรศัพท์ประสานมาที่สายด่วน สปสช. 1330 ได้เช่นกัน
นพ.จเด็จ กล่าวว่า สายด่วน 1330 ได้เริ่มดำเนินการจัดหาเตียงแก่ผู้ป่วยโควิดตั้งแต่วันที่10 เม.ย. เป็นต้นไป ดังนั้น โรงพยาบาลที่ประสบปัญหาเตียงไม่พอสามารถติดต่อประสานงานเข้ามาได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงประชาชนที่ตรวจแล้วพบเชื้อแต่มีปัญหายังไม่ได้รับการรักษาด้วยเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยอดติดเชื้อโควิด 11 เม.ย.64 รายใหม่ 967 สะสม 32,625 ราย
10 แนวทางแก้ปัญหาติดเชื้อโควิด-19 หมอธีระวัฒน์ชี้ต้องยอมรับก่อน
อัพเดท 35 จังหวัดที่มีคำสั่ง-ประกาศ กักตัวผู้ที่เดินทางมาจากนอกพื้นที่
ด่วน! ศาลสั่งคุก 2 ผู้จัดการร้าน “คริสตัล-เอเมอร์รัล”2 เดือนไม่รอลงอาญา
ตำรวจกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง ยอดติดเชื้อโควิดพุ่ง รวมแล้ว 113 นาย