รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า โควิด-19 เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ความรู้ก็เปลี่ยน จึงมีความสำคัญในการติดตาม
การใส่หน้ากากอนามัย สมัยก่อนโควิด เราจะแนะนำให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ ใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคออกไป มากกว่าที่จะแนะนำให้คนปกติใส่
เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด ปัจจุบันเป็นที่ทราบแน่ชัดแล้วว่า ทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคร่วมกัน ในการลดการแพร่กระจายป้องกันเขา และป้องกันเรา
การแพร่กระจายของโรคโควิด แต่เดิมกล่าวว่าการแพร่กระจายจะเป็นทางฝอยละออง เพราะดูจากอำนาจการแพร่กระจายของโรค (R0) จะอยู่ที่ 2-3 ไม่ได้มากแบบโรคหัด (R0 = 15) แต่หลังจากมีการแพร่กระจายอย่างมากใน superspreading โดยเฉพาะในที่ปกปิด อากาศถ่ายเทไม่ดี รวมทั้ง หรือมีรายงานการระบาดในโบสถ์ที่มีการร้องเพลง ทำให้เข้าใจว่าการแพร่กระจายของโรค สามารถผ่านไปทางอากาศได้ (airborne) อย่างเช่นในสถานบันเทิง มาตรการในการป้องกันจึงจำเป็นที่จะต้องเข้มงวดแบบการแพร่กระจายในอากาศ ดังนั้นในอาคารจึงจำเป็นที่จะต้องสวมหน้ากากอนามัยเป็นอย่างยิ่ง
การกลายพันธุ์ ในระยะแรก ดูเหมือนว่าการกลายพันธุ์ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่ เมื่อไวรัสออกจากประเทศจีน เริ่มมีการกลายพันธุ์มาตลอด จะเห็นว่าสายพันธุ์ G แพร่กระจายได้รวดเร็วและกระจายไปทั่วโลก กลบสายพันธุ์อื่น
ต่อมาพบว่ามีการกลายพันธุ์อีกหลายสายพันธุ์ ที่ทำให้แพร่กระจายได้รวดเร็วและหลบหลีกภูมิต้านทาน
สายพันธุ์อังกฤษแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์ G เดิม ซึ่งต่อไป ก็คงจะกระจายทั่วโลก และเพิ่มอัตราการติดโรคได้มากขึ้น ที่เห็นในประเทศไทย
การเป็นแล้วเป็นได้อีก หลักฐานปัจจุบันค่อนข้างชัดแล้วว่าโรคนี้ เมื่อหายแล้วยังมีโอกาสเป็นได้อีกเมื่อภูมิต้านทานตกต่ำลง หรือไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม? ดังนั้นในทำนองเดียวกันการให้วัคซีนเพื่อสร้างภูมิต้านทาน ประสิทธิภาพในการป้องกันจึงไม่ 100% เมื่อให้แล้วก็ยังเป็นโรคได้โดยมีความหวังที่จะให้ความรุนแรงของโรคลดลง
ภูมิคุ้มกันกลุ่ม ที่เคยคาดหวังไว้ จะได้ผลดี ก็ต่อเมื่อโรคนั้นเป็นแล้วโอกาสกลับเป็นซ้ำน้อยมาก เช่น โรคหัด สุกใส แต่สำหรับโควิด 19 ความหวังของภูมิคุ้มกันกลุ่ม อาจจะต้องมากกว่าที่คิด เพราะให้วัคซีนแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่ติดเชื้อและแพร่กระจายโรคได้ แต่อาการน้อยลง อัตราในการให้วัคซีนอาจจะต้องมากกว่าตัวเลขที่คำนวณตาม R0
ดังนั้นความรู้ในปัจจุบันนี้ ณ ขณะนี้ ก็ถูกต้องสำหรับขณะนี้ แต่ในวันข้างหน้าเมื่อมีองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาก็อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :