ยอดโควิด 19 วันนี้ ประเทศไทยยังเจอกับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเพิ่มหลักพันติดต่อกัน ล่าสุด 20 เมษายน 2564 ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทะลุหลักพันเป็นวันที่หก จากข้อมูลอัพเดทสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 โดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 1,443 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 45,185 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 4 คน เสียชีวิตสะสม 108 ราย
ขณะที่สถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลก ผู้ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ที่ 142,676,814 ราย เพิ่มขึ้น 645,177 ราย ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก อยู่ที่ 3,042,348 ราย เพิ่มขึ้น 9,337 ราย ราย หายป่วย 121,175,083 ราย
แน่นอนว่าเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ก็คงพอจะคาดเดากันได้ว่าการระบาดของโควิด 19 ระลอกนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย หลายองค์กรเริ่มประกาศให้พนักงาน Work from home ทำงานจากบ้านเช่นเดียวกับสถานศึกษาก็ประกาศปรับรูปแบบการเรียนการสอนไปสู่ออนไลน์อีกครั้ง
ในส่วนภาครัฐก็ออกมาตรการช่วยเหลือโควิดรวมทั้งมาตรการดูแลต่างๆ
แต่ก็ยังมีคำถามจากประชาชนส่วนใหญ่ อาทิ ติดโควิด-19 ไม่ได้นอนโรงพยาบาล เพราะเตียงไม่พอจริงหรือไม่ ตรวจโควิดกับเอกชน แต่ถ้าแล็บไม่เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลจะทำให้ไม่สามารถรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้ โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งระบุว่าเตียงไม่พอ รวมทั้งการตรวจโควิดเชิงรุก เมื่อพบว่าติดเชื้อแต่หาเตียงไม่ได้
ด้านกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ออกยืนยันว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจ ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และสาธารณสุข ส่วนโรงพยาบาลและแล็บเอกชนที่ตรวจพบ ก็ควรประสานงานเพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที ซึ่งขณะนี้ยังมีเตียงเพียงพอ เพราะผู้ป่วยมีการหมุนเวียน และกำลังจัดทำเตียงสนามเพิ่ม
สำหรับข้อมูล ณ วันที่ 18 เม.ย. มีเตียงเพิ่มเป็น 9,317 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิดทั่วประเทศ
แต่ที่ประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจอยู่ก็คือ หากยอดติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นหลักหมื่นคนต่อวัน จะให้ผู้ป่วยตามเกณฑ์ที่กำหนดรักษาตัวที่บ้าน จริงหรือไม่
เรื่องนี้ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันว่า สธ.เตรียมแผนสำรอง ติดโควิด-19 รักษาตัวที่บ้าน นั้นยังเป็นเพียงแนวคิดที่ประเมินกันว่าหากมีการระบาดรอบใหม่ จนทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเป็นหลักหมื่น และเตียงไม่เพียงพอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จำเป็นต้องเตรียมพร้อมการให้ผู้ป่วยอยู่ที่บ้าน โดยมีแผนดังนี้
• โรงพยาบาลต้องประเมินความเหมาะสมอาการติดโควิดของผู้ป่วย แล้วลงทะเบียนในระบบโรงพยาบาล เพื่อพักรักษาตัวในที่พักของตัวเองเป็นเวลา 1 เดือน
• หากไม่มีอาการผิดปกติ โรงพยาบาลจะจัดเตรียมอุปกรณ์วัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดไว้ให้ เพื่อตรวจวัดในแต่ละวัน มีทีมแพทย์คอยติดตามอาการผู้ป่วยผ่านเทเลมอนิเตอร์
• จัดระบบรับ-ส่งต่อผู้ป่วย กรณีจำเป็นต้องย้ายไปรักษาต่อในโรงพยาบาล
• สถานที่แยกตัว บ้าน หอพัก หรือคอนโดมิเนียม จะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของสถานที่ โดยให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวตามคำแนะนำในการแยกตัว ซึ่งใช้วิธีเดียวกับผู้ติดเชื้อที่จำเป็นต้องอยู่ร่วมกับคนในครอบครัวไปก่อน เพื่อรอเตียงและรถพยาบาลไปรับรักษาตัว
• ผู้ป่วยที่เข้าหลักเกณฑ์พักรักษาตัวในที่พักอาศัย ต้องเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ อายุไม่เกิน 40 ปี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน ไม่มีภาวะอ้วน ไม่มีโรคร่วม และยินยอมที่จะแยกตัวในที่พักของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวยังคงเป็นเพียงแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมพร้อมเอาไว้ หากมีการระบาดรอบใหม่และจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นจนถึงหลักหมื่นต่อวัน ซึ่งนพ.สมศักดิ์ ก็มั่นใจว่าการระบาดในระลอกนี้ผู้ติดเชื้อยังอยู่ในจำนวนที่มีเตียงรองรับเพียงพอ เพราะการให้ผู้ป่วยกักตัวอยู่บ้านก็ต้องเตรียมการค่อนข้างเยอะทั้งการมอนิเตอร์โดยแพทย์ และการส่งอุปการทางการแพทย์ ทั้งอุปกรณ์การวัดอุณหภูมิและระดับออกซิเจน
ที่มา : ศูนย์ข้อมูล COVID-19
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รวมข่าว "โควิด-19" วันที่ 20 เม.ย.64 แบบอัพเดทล่าสุด
โควิดวันนี้ 20 เม..ย. ยอดติดเชื้อเพิ่ม 1,443 เสียชีวิต 4 คน
โควิดบุกสภา! พบ เจ้าหน้าที่ระบบไฟฟ้า-กล้องวงจรปิด บ.ซิโน-ไทยฯ ติดเชื้อโควิด 3 ราย
เปิดไทม์ไลน์ผู้เสียชีวิตจาก"โควิด-19" 4 รายล่าสุด มีโรคประจำตัว-ไปสถานบันเทิง