4 จุดเสี่ยงดันโควิด-19 ระบาดหนัก หมอธีระชี้ไล่ปิดสถานที่ไม่สามารถป้องกันได้แล้ว

26 เม.ย. 2564 | 01:35 น.
อัปเดตล่าสุด :26 เม.ย. 2564 | 08:35 น.

4 จุดเสี่ยงดันโควิด-19 ระบาดหนัก หมอธีระชี้ไล่ปิดสถานที่ไม่สามารถป้องกันได้แล้ว ระบุมีผลแค่บรรเทาบางส่วน

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า สถานการณ์ทั่วโลก 26 เมษายน 2564

อินเดียทะลุ 17 ล้านแล้ว และยังทำลายสถิติอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดติดเพิ่มเกินสามแสนห้าหมื่นคน ระบบสุขภาพของประเทศอินเดียรับไม่ไหว จำนวนเสียชีวิตต่อวันตอนนี้สูงที่สุดในโลก คงต้องเอาใจช่วย เป็นกำลังใจให้ควบคุมได้โดยเร็ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มถึง 736,576 คน รวมแล้วตอนนี้ 147,763,730 คน ตายเพิ่มอีก 10,072 คน ยอดตายรวม 3,121,769 คน

อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 34,360 คน รวม 32,824,013 คน ตายเพิ่ม 269 คน ยอดเสียชีวิตรวม 586,148 คน อัตราตาย 1.8% เห็นชัดเจนว่าหลังมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย รวมถึงระบบการบริหารจัดการ และวงที่ปรึกษาในการต่อสู้กับโรคระบาด การคุมการระบาดของเค้าดีขึ้นมาก และมีการเลือกใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงและมีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่ชัดเจนให้แก่ประชาชน

อินเดีย ติดเพิ่มมากถึง 354,531 คน รวม 17,306,300 คน ตายเพิ่ม 2,806 คน ยอดเสียชีวิตรวม 195,116 คน อัตราตาย 1.1%

บราซิล ติดเพิ่ม 32,572 คน รวม 14,340,787 คน ตายเพิ่มถึง 1,188 คน ยอดเสียชีวิตรวม 390,797 คน อัตราตาย 2.7%

ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 24,465 คน ยอดรวม 5,498,044 คน ตายเพิ่ม 145 คน ยอดเสียชีวิตรวม 102,858 คน อัตราตาย 1.9%

รัสเซีย ติดเพิ่ม 8,780 คน รวม 4,762,569 คน ตายเพิ่ม 332 คน ยอดเสียชีวิตรวม 108,232 คน อัตราตาย 2.3%

อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่นต่อวัน

ตุรกีกดการระบาดได้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ล่าสุดเพิ่มสามหมื่นกว่าคนต่อวันแล้ว หลังจากที่ประกาศล็อคดาวน์ช่วงกลางเดือนเมษายน ซึ่งขณะนั้นติดเชื้อสูงถึง 5-6 หมื่นต่อวันอย่างต่อเนื่อง

แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงบังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น

ฟิลิปปินส์จะมียอดรวมเกินล้านคนในวันพรุ่งนี้

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า

แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง

เกาหลีใต้ และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน เวียดนาม และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และออสเตรเลีย ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

วิเคราะห์การระบาดของไทยเรา

ด้วยสถานการณ์ระบาดที่กระจายไปทั่ว ทุกเพศทุกวัย หลายหลายอาชีพ การควบคุมแบบไล่ปิดไปแต่ละที่แต่ละแห่งแต่ละกิจกรรมนั้น จะไม่เพียงพอในการจัดการแล้ว อย่างมากก็ได้เพียงบรรเทาอาการบางส่วน แต่สิ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมานั้นจะเป็นการปะทุตามที่ต่างๆ เหมือนน้ำที่บรรจุในภาชนะที่มีรูมากมาย ปิดรูไปหลายรู แต่รูที่เหลืออยู่นั้นก็จะมีน้ำรั่วไปทางนั้น

หรือหากผู้ใหญ่จะอธิบายให้เด็กๆ ลูกหลานเราได้เข้าใจสถานการณ์ ก็เปรียบเหมือนเล่นเกมส์เอาค้อนทุบหัวตัวตุ่นนั่นเอง จะหยุดตัวตุ๋นไม่ให้โผล่มาได้ มีสองทางคือ ปิดรูให้หมด หรือปิดสวิทช์เกมส์ ส่วนการจะเอาตัวตุ่นออกไปจากสนามนั้นคงทำไม่ได้แล้ว เพราะตอนนี้ตัวตุ่นแพร่พันธุ์ไปมากและอยู่ใต้ดิน

สิ่งที่ประชาชนอย่างเราต้องเตรียมรับมือคือ การระบาดถัดจากนี้น่าจะมีการปะทุใน 3-4 จุดหลัก ได้แก่

หนึ่ง "ที่ทำงาน" ที่ยังมีการเปิดทำการแบบ on-site อยู่ ไม่ว่าจะเป็นแบบออฟฟิศ ห้าง ร้าน สถานประกอบกิจการเล็กกลางใหญ่และโรงงานต่างๆ โดยจะมีโอกาสแพร่เชื้อติดเชื้อกันได้หากป้องกันไม่ดีพอ ทั้งระหว่างกระบวนการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการค้าขายหรือบริการ ระหว่างคนทำงานกันเอง หรือคนทำงานกับลูกค้า รวมถึงการประชุม หรือระหว่างการพักกลางวัน พบปะกินข้าวด้วยกัน นั่งกินข้าวในร้านอาหารหรือโรงอาหารร่วมกัน ใช้ของใช้ร่วมกัน แชร์ของกินร่วมกัน สุขาสาธารณะ/ที่ทำงาน รวมถึงการนัดพบปะกันหลังเลิกงาน

สอง "ร้านอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร" ทั้งที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า หรืออยู่ที่อื่นๆ อาจเกิดการระบาดจากการแพร่เชื้อติดเชื้อในหมู่ผู้ประกอบกิจการเอง เช่น การร่วมกันทำอาหารด้วยกัน หรืออยู่กันแออัดใกล้ชิด หรือระหว่างคนให้บริการและลูกค้า หรือจากลูกค้าที่ติดเชื้อไปสู่ลูกค้าก็ตาม หากป้องกันไม่ดีพอ

สาม "ขนส่งสาธารณะ" เป็นไปตามสัจธรรมคือ หากมีการติดเชื้อกระจายไปทั่ว แล้วไม่มีการหยุดเพื่อตัดวงจรการระบาดต่อเนื่อง จะมีโอกาสเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อใดและที่ไหน ขนส่งสาธารณะไม่ว่าจะเป็นรถแท็กซี่ รถตู้ รถเมล์และรถเมล์ปรับอากาศ รถไฟ เรือ เครื่องบิน ฯลฯ โดยเฉพาะช่วงที่มีคนใช้บริการมาก ย่อมมีความเสี่ยงสูงมาก

และสี่ ที่จะมีโอกาสเกิดมากขึ้น หากป้องกันไม่ดี คือ "ในบ้านและที่อยู่อาศัยประเภทต่างๆ" ตราบใดที่ยังมีการดำเนินชีวิต ออกไปทำงานของสมาชิกในครอบครัว ย่อมมีโอกาสเสี่ยงที่จะนำพาเชื้อมาสู่สมาชิกในครอบครัว หรือคนที่อยู่อาศัยในที่เดียวกัน เช่น หอพัก อพาร์ตเมนท์ คอนโดมิเนียม ชุมชนที่อยู่กันอย่างแออัด

การวิเคราะห์ข้างต้น ประเมินตามธรรมชาติของการใช้ชีวิตของคน ภายใต้ข้อกำหนดในปัจจุบัน ดังนั้นคงพอจะเข้าใจได้ว่า สถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ เราคงต้องร่วมแรงร่วมใจกันปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของเราและสมาชิกในครอบครัว

อยู่บ้าน...หากทำได้ ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ ใส่หน้ากากเสมอ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า จะช่วยป้องกันได้ดีขึ้น พกเจล หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัว ล้างมือบ่อยๆ ทุกครั้งหลังจับสิ่งของสาธารณะ ระวังเรื่องสุขาสาธารณะ ปิดฝาก่อนชักโครก ล้างมือทุกครั้ง และใส่หน้ากากเสมอ

เลี่ยงการกินดื่มในร้านอาหารหรือโรงอาหารหรือศูนย์อาหาร ซื้อกลับไปจะปลอดภัยกว่า เลี่ยงการเดินทางท่องเที่ยวพบปะสังสรรค์ คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบาย ควรหยุดงาน แล้วไปตรวจรักษา ศึกนี้หนักหนามาก คนที่ได้รับผลกระทบจะมีจำนวนมากและยาวนาน หากใครพอจะมีกำลัง ความรู้ ทักษะ หรือทรัพยากร ที่จะแบ่งปันช่วยเหลือกันและกัน ก็ขอให้ช่วยตามสมควร ประคับประคองให้เราทุกคนอยู่รอดปลอดภัยไปด้วยกัน

...ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน...

นี่คือสำนวนโบราณ ที่ยังเป็นจริงเสมอ

เป็นกำลังใจให้ทุกคน

ด้วยรักและห่วงใย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :