รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า โควิด-19 การรักษาด้วยพลาสมาจากผู้ที่หายป่วย องค์ความรู้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ขณะนี้ได้มีการนำพลาสมาจากผู้ที่หายป่วยมารักษาผู้ป่วย covid-19 ในการระบาดและรอบใหม่มากกว่า 120 คน จนพลาสมาที่มีอยู่ใกล้จะหมดลง จึงอยากจะเชิญชวนผู้ที่หายแล้วพร้อมที่จะมาบริจาคได้ โดยเฉพาะผู้ชาย
มีหลายท่านเข้าใจผิดทำให้มีคนเขียนมาถามมากมาย ถามว่าการให้พลาสมาผู้ที่หายป่วยแล้ว ไม่เกิดประโยชน์อย่างใดไม่ใช่หรือ มีการศึกษาวิจัยแล้ว
ขอตอบว่าใช่ มีการศึกษาวิจัยแล้ว ที่เป็นการศึกษาวิจัยที่ดี พิมพ์ในวารสาร NEJM ชั้นนำของโลก ว่าการให้พาสม่าในผู้ป่วยที่เป็นรุนแรง ให้แล้วไม่แตกต่างกันกับการไม่ได้ให้ การรักษาด้วยพลาสมาในรายงานนี้ ทุกคนยอมรับถ้าผู้ป่วยรุนแรงถึงกับใส่ท่อช่วยหายใจแล้ว ไม่มีประโยชน์อันใดเลยจะให้พลาสมา
ผู้เขียนนำผลงานนี้มาเผยแพร่ในสื่อสังคม ทำให้หลายคนเข้าใจผิด แต่ไม่ได้อ่านต่อไปว่า มีการศึกษาในวารสารเดียวกัน การให้พลาสมาในกลุ่มเสี่ยง เช่นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และ ให้เร็วตั้งแต่เริ่มมีปอดบวม พบว่าสามารถป้องกันการดำเนินโรคไม่ให้เลวลง ทำให้ผู้ป่วยลดการใส่ท่อช่วยหายใจ และลดอัตราการตายได้
ต่อมามีการศึกษาอีก ในวารสารเดียวกันที่มีชื่อ พบว่าพลาสมา ที่ใช้จะต้องมีระดับภูมิต้านทานสูง จึงจะได้ประโยชน์โดยเฉพาะภูมิต้านทาน 1:320 ขึ้นไป ดังนั้นในการเก็บพลาสมาของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เราจึงเลือกเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานสูงตามเกณฑ์ดังกล่าวเท่านั้น เพื่อให้ผู้ใช้ได้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ต่อมาก็มีการเผยแพร่ทางสื่อสังคมในบ้านเราอีก ว่าการให้พลาสม่าจะทำให้ไวรัสกลายพันธุ์
จึงอยากขอชี้แจงว่า การฉีดวัคซีน การให้พลาสมา ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น มีส่วนในการกดดันไวรัสให้ไวรัสกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้จริง ไม่ว่าจะเป็น ภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีน หรือภูมิต้านทานที่อยู่ในพลาสมา ไวรัสก็จะปรับตัวหลบหลีกภูมิต้านทานนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ
จึงอยากจะเรียนชี้แจงว่าขอให้สบายใจ ในการให้ Plasma เป็นการให้ในโรงพยาบาล หรือหอผู้ป่วย มีการดูแลการแพร่กระจายของโรค ไม่ให้ไปติดผู้อื่นอยู่แล้ว เหมือนการป้องกันเช่นเดียวกันกับการป้องกันเชื้อดื้อยา
ขณะที่ผู้ป่วยรักษาอยู่จะมีทั้งยา และผลิตภัณฑ์ ต่างๆที่จะทำให้ไวรัสหลบหลีกได้ทั้งนั้น แต่เมื่อผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล ถึงแม้จะมีไวรัสกลายพันธุ์ ก็เกิดขึ้นในโรงพยาบาล ก็จะเกิดในผู้ป่วยคนนั้น จนกว่าผู้ป่วยนั้นจะหาย ไวรัสหมดไปแล้ว จนกลับบ้าน หรือเสียชีวิต ไวรัสจะไม่มีโอกาสที่แพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้เลย การระบาดของสายพันธุ์ใหม่จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ในผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาล จึงอยากให้สบายใจได้
ความรู้ที่เกิดใหม่เป็นพลวัตอยู่ตลอดเวลา การติดตามข้อมูลที่ถูกต้อง และจะต้องคิดวิเคราะห์ จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก
ดังนั้นในขณะนี้ในโครงการบริจาคพลาสม่า เราจะมีการตรวจระดับภูมิต้านทาน ของผู้ที่จะมาบริจาค เราจะรับบริจาคเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานสูงเท่านั้น และการนำไปใช้เราได้มีคำแนะนำให้ใช้กับผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกที่ผู้ป่วยมีภาวะปอดบวม อย่างน้อย 2 จุดขึ้นไป และหรือเริ่มมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำลงมาอยู่ที่ 94 เปอร์เซ็นต์หรือต่ำกว่า เราจะไม่รอ จนผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะวิกฤตเช่นเกิดภาวะหายใจล้มเหลวแล้ว จะทำให้การรักษาไม่ได้ผล
จากข้อมูลการรักษาขณะนี้มากกว่า 120 ราย ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามีอาการเป็นที่น่าพอใจ กำลังรอวิเคราะห์ผลทั้งหมด และความประสงค์ของแพทย์ผู้รักษา ก็อยากจะได้พาสมาดังกล่าว เพราะซึ่งเปรียบเทียบกับยาที่ใช้รักษาแล้ว มีราคาถูกกว่ากันมาก ถึงแม้พลาสมา จะเป็นชีววัตถุ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ก็มีมาตรการในการตรวจความปลอดภัยที่จะนำพลาสมานั้นมาใช้ตามมาตรฐานสากล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :