วันที่ 3 พ.ค.64 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ชาวงหนึ่งว่า นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน 2564 จนถึงขณะนี้ประเทศไทยมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมแล้ว 41,933 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 13,958 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ล่าสุดกรุงเทพมหานคร (กทม.) รายงานว่า มี 10 เขต ที่พบผู้ป่วยติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ 1.เขตห้วยขวาง 392 ราย 2.เขตดินแดง 284 ราย 3.เขตบางเขน 284 ราย 4.เขตวัฒนา 272 ราย 5.เขตจตุจักร 259 ราย 6.เขตลาดพร้าว 230 ราย 7.เขตวังทองหลาง 225 ราย 8.เขตบางกะปิ 215 ราย 9.เขตสวนหลวง 211 ราย และ 10.เขตภาษีเจริญ 186 ราย
ค้นหาเชิงรุกชุมชนคลองเตย พบติดเชื้อแล้ว 304 ราย
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวถึงกรณีการติดเชื้อในชุมชนคลองเตยว่า สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง(สปคม.) นำเสนอที่ประชุมถึงการค้นหาเชิงรุกในชุมชนคลองเตย โดยจะมุ่งเป้าไปที่ 39 ชุมชน ทั้งชุมชนเมือง ชุมชนแออัด และชุมชนที่อยู่ในเคหะ ซึ่งปัจจุบันมีรายงานผู้ติดเชื้อ 304 ราย จำนวนนี้ 193 ราย อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างหนาแน่นในพื้นที่ชุมชนแออัด ทำให้ต้องเฝ้าระวังการแพร่เชื้อในชุมชนเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม นำผู้ติดเชื้อทั้งหมดเข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว 100% โดยพบว่ามี 3 ชุมชนที่มีการติดเชื้อหนาแน่น คือ ชุมชนพัฒนาใหม่ ชุมชน 70 ไร่ และชุมชนริมคลองวัดสะพาน จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ 3 ชุมชนนี้ ในวันที่ 27 เมษายน และ 30 เมษายน พบว่า ชุมชน 70 ไร่ ตรวจ 436 ราย พบติดเชื้อ 21 ราย ชุมชนริมคลองวัดสะพาน ตรวจ 489 ราย พบติดเชื้อ 29 ราย และชุมชนพัฒนาใหม่ ตรวจ 411 ราย พบเชื้อ 49 ราย
นอกจากนี้ กทม.ก็พยายามค้นหาพื้นที่อื่นที่ยังไม่เกิดการแพร่ระบาดจะต้องมีการเตรียมการเฝ้าระวังรับมืออย่างไร โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ได้นำเสนอข้อมูลชุมชนหนาแน่นในกทม.ทั้งหมด ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมาย 680 จุดทั่วกทม. ซึ่งได้นำรายงานผู้ติดเชื้อมาแยกเขต พบว่าผู้ติดเชื้อสีแดง มี 301 ราย อยู่ 6 เขต ซึ่ง GISTDA ได้ปักหมุดเพิ่มเติมชุมชน โดยเฉพาะตลาด 746 จุด จะมีทั้งตลาดถาวร และตลาดนัดที่มีบางช่วงเวลา พร้อมวางแผนการลงทุนพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่หนาแน่น มีตลาด มีที่รวมกลุ่มไปจับจ่ายใช้สอย ต้องมีมาตรการในการลงพื้นที่ หรือกำหนดการคัดกรองเชิงรุกอย่างไร รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในส่วนโรงพยาบาลรักษาและโรงพยาบาลสนาม เพื่อวางแผนรับมือด้วย
นอกจากนี้ทางศบค. ได้ชี้แจงถึงสาเหตุการปิดการรับประทานอาหารในร้าน เนื่องจากเป็นแหล่งแพร่ระบาดอีกแหล่งหนึ่ง แต่จำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานครค่อนข้างสูง จึงมีความเป็นห่วงในเรื่องการจัดสรรทรัพยากรทางด้านสาธารณสุข ที่จะดูแลประชาชนให้ปลอดภัย จึงจำเป็นต้องออกมาตรการเข้มข้นสูงสุด คือ ไม่อนุญาตให้รับประทานอาหารในร้าน แต่หากสถานการณ์ดีขึ้นจะมีการประกาศมาตรการผ่อนคลายตามมา
ซื้อยากินเอง เสี่ยงอันตราย
พญ.อภิสมัย ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับประเด็นการจัดซื้อยามารับประทานเอง ระหว่างรอเตียงว่า เป็นเรื่องที่อันตราย มีความเสี่ยง ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากผู้ที่ซื้อยามารับประทานเอง อาจจะเป็นผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัวที่ต้องทานยาประจำอยู่แล้ว การซื้อยามารับประทานเอง อาจเพิ่มอันตรายมากขึ้น
นายกฯเรียกประชุมศบค.ชุดเล็ก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (3 พ.ค.) เวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมเรียกประชุม ศบค.ชุดเล็ก ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อประเมินสถานการณ์โควิด-19 ภายหลังที่ผ่านมาพบตัวเลขผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ ยังคงสูงเป็นจำนวนมาก รวมถึงการเร่งตรวจเชิงรุกในชุมชนต่างๆ ภายในกรุงเทพฯ ซึ่งกรุงเทพฯ ได้มีแผนรองรับในการตรวจเชิงรุกไว้แล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง