สถานการณ์โควิด19 ยังคงน่าเป็นห่วง ล่าสุดโควิดวันนี้ (5 พ.ค.2564) ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2,112 เสียชีวิตเพิ่ม 15 คน ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 46,037 ราย
สิ่งที่น่าจับตามองจากหน่วยงานสาธารณสุขคงจะเป็น "คลัสเตอร์คลองเตย" และชุมชนแออัด ในกรุงเทพมหานคร หลังพบว่ามียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ที่น่ากังวลก็คือ “ชุมชุนคลองเตย” พบว่ามีประชากรหนาแน่นประมาณ 80,000 คน ลักษณะทั่วไปเป็นชุมชนแออัด มีการใช้พื้นที่ร่วมกัน การระบายอากาศไม่ดี ทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ง่ายและรวดเร็ว
ขณะที่กรุงเทพและปริมลฑลยังคงน่าเป็นห่วง จากข้อมูลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือน เม.ย. – ต้นเดือนพฤษภาคม แบ่งตามพื้นที่เสี่ยงแล้ว ระยะหลังพบว่าเป็นการสัมผัสกลุ่มผู้ป่วยยืนยัน คนในครอบครัวและผู้ร่วมงานมากขึ้น ตามมาด้วยการติดเชื้อจากตลาด ชุมชนและการขนส่ง และสถานบันเทิง
ความน่ากังวลครั้งนี้ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. ลงนามคำสั่งตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขโควิด-19 พื้นที่ กทม.และปริมณฑล
ศูนย์ดังกล่าวมีนายกฯ เป็น ผอ.ศูนย์ แบ่งการทำงานเป็น 5 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายปฏิบัติการการตรวจเชิงรุก ฝ่ายบริหารจัดหารผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง ฝ่ายบริหารจัดการพื้นที่ ฝ่ายบริหารจัดการการฉีดวัคซีน โดยให้ ผอ.เขต ผอ.ศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโควิดในระดับเขต จะทำงานร่วมกับศูนย์ใหญ่ บริหารจัดการต่างๆ ให้สอดคล้องกัน
เมื่อมาดูข้อมูลสถานการณ์ผู้ป่วยโรคโควิด-19 จากรายงานของศูนย์ข้อมูล COVID-19 ณ วันที่ 1-5 พ.ค.64 มีผู้ป่วยรักษาอยู่ 30,222 ราย ในโรงพยาบาล 21,608 ราย โรงพยาบาลสนาม 8,614 ราย อาการหนัก 1,042 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 343 ราย
ทำให้จำนวนเตียงผู้ป่วยเข้าขั้นวิกฤตและอุปกรณ์การรักษาโดยเฉพาะเครื่องช่วยหายใจเริ่มขาดแคลน ที่สำคัญบุคลากรทางการแพทย์ต้องรับภาระอย่างหนัก
“สถานการณ์โควิดตอนนี้บานปลายไปมาก บุคลากรมีภาระตึงมือกันไปทั่ว ทางรอดเดียวของเราคือใช้ศักยภาพไอซียูโควิด (ระดับ 3 ) ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้คุ้ม คู่ไปกับการขยายศักยภาพ COVID ward (ระดับ 2) ให้รองรับผู้ป่วยปอดอักเสบโควิดที่เริ่มรุนแรง (step up) หรือเริ่มรุนแรงลดลง (step down) เพื่อให้การใช้เตียงไอซียูโควิดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และอาวุธสำคัญหนึ่งคือเครื่องไฮโฟลว์ที่ผมรณรงค์เสนอให้ทุกฝ่ายเร่งจัดหา” รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว
ขณะที่เมื่อย้อนดูข้อมูลตั้งแต่วันที่ 24 เมษายนถึงขณะนี้ จะเห็นว่าจำนวนผู้ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก อยู่ที่ประมาณ 18,000-21,000 คน แต่ที่เพิ่่มขึ้นเรื่อย ๆ คือที่ผู้ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม เพิ่มขึ้นกว่า 3,308 คน ภายใน 10 วัน
ประเด็นเรื่องเตียงไอซียูเพียงพอหรือไม่นั้นยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ อาจเป็นไปได้ว่าเตียงไอซียูภาครัฐเริ่มตึงมากแล้ว แต่ภาคเอกชนยังมีเตียงไอซียูเหลืออยู่
ศ. นพ.ขจรศักดิ์ ศิลปโภชากุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวว่า เตียงไอซียูในกรุงเทพฯ มีความสำคัญมาก โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากจำนวนผู้ป่วยอาการหนักในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 21-27 เมษายน 2564
“เรื่องของเรื่องก็มีอยู่ว่า ถึงแม้ว่าจำนวนเคสโควิคทำท่าจะลดลง แต่ถ้าเราไปดูคนไข้โควิคที่อยู่ใน ICU กลับปรากฏว่ามันกำลังเพิ่มขึ้น สวนทางกัน ซึ่งถ้าเรามาดูตัวเลขเปอร์เซ็นต์ของคนไข้โควิคในเมืองไทยที่ต้องเข้า ICU จะพบว่ามีประมาณ 3% ของคนไข้ทั้งหมด ดังนั้นถ้าเรามีคนไข้วันละ 500-1,000 คน ก็จะมีคนไข้ต้องการ ICU ในกรุงเทพฯ วันละ 15-30 คน แถมแต่ละคนก็ต้องอยู่โรงพยาบาล 2-4 อาทิตย์ ดังนั้นตอนนี้เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเตรียมเตียง คน และ สถานที่ เพื่อทำ ICU Co-ward เตรียมไว้ได้เลยครับ และผมคิดว่าเราคงต้องเกณฑ์หมอและพยาบาลจากต่างจังหวัดมาช่วยกรุงเทพฯ แบบที่เมืองจีนทำกับอู่ฮั่น”
เมื่อย้อนกลับไปนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดขึ้นในเมืองอู่ฮั่น เมืองหลวงของหูเป่ย์ซึ่งสถานการณ์ในขณะนั้นทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ชาวจีนหลายร้อยล้านคน เดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนมีการแพร่กระจายเชื้อออกไปอย่างกว้างขวาง ขณะที่ประเทศไทยเองก็ติดอันดับประเทศปลายทางยอดนิยมของชาวจีนเช่นกัน
ครั้งนั้นทำให้ต้องได้มีการส่งบุคลากรทางการแพทย์จากทั่วประเทศจีน ไปช่วยเหลือการรักษาพยาบาลและควบคุมโรคระบาดในมณฑลหูเป่ย์รวมกว่า 42,000 คน ทีมแพทย์ทุกทีมต่างมุ่งมั่นและมีเป้าหมายที่จะพาอู่ฮั่นฝ่าวิกฤติซึ่งต่อมาสถานการณ์การแพร่ระบาดในหูเป่ย์ได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม กรุงเทพฯ ถือที่เป็นพื้นที่ระบาดหนัก ผู้ป่วยติดเชื้อเกินครึ่งของจำนวนทั่วประเทศ และยังเป็นพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการยากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่มีจำนวนมาก
นอกจากยังมีปัญหาการหาเตียงให้ผู้ป่วย คนไข้ตกค้างที่บ้าน จนเกิดกรณีผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนจะได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล รวมทั้งจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยไอซียูห้องความดันลบก็เริ่มจะเต็มกำลังของระบบสาธารณสุข
มาถึงตอนนี้เราควรจะทำอย่างไรดี ?
“เราก็ต้องหาวิธีอื่นที่จะลดการระบาดซึ่งความจริงเราก็มีไม้ตายอยู่ คือการ lockdown ซึ่งตอนนี้เราก็พยายามทำแค่บางส่วน แต่มองว่าถ้าทำแบบนี้ มันจะไม่เป็นผลมากนัก และถ้าลดการระบาดยังไม่ได้ ผมคิดว่าเราก็ควรต้องป้องกันการตาย โดยการระดมฉีดวัคซีนที่เราได้มาใหม่ 1 ล้านโดสให้คนแก่ในกรุงเทพฯ ให้มากที่สุดและเร็วที่สุด ก็อย่างที่รู้รู้กันอยู่จากข้อมูลในอิสราเอลและอเมริกาว่าการฉีดวัคซีนช่วยลดอัตราการตายในผู้ป่วยสูงอายุ นอกจากนี้การฉีดวัคซีนยังทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักน้อยลง เหนื่อยน้อยลง และแม้กระทั่งการต้องใส่ท่อช่วยหายใจก็น้อยลงด้วย อาจจะทำให้สถานการณ์การใช้เตียง ICU ดีขึ้น” ศ. นพ.ขจรศักดิ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปากน้ำป่วน! ปิดเทศบาล 7 วันเริ่ม 6 พ.ค. หลังพบผู้ติดโควิด-กักตัวระนาว
เปิดคำสั่ง "บิ๊กตู่"ลุยเอง นั่งผอ.ศูนย์ควบคุมระบาดโควิด กทม.-ปริมณฑล