ทางรอดจากการล่มสลายทางการแพทย์ หมอศิริราชเสนอตั้งโรงพยาบาลเฉพาะกิจโควิดกรุงเทพ

07 พ.ค. 2564 | 01:10 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ค. 2564 | 08:13 น.

หมอนิธิพัฒน์ เสนอดัดแปลงโรงพยาบาลสักแห่งให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะกิจโควิดกรุงเทพ ชี้เป็นหนทางเดียวที่จะรอดจากการล่มสลายทางการแพทย์

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความว่า 

หลังจากจัดหาอาวุธสำคัญ “ไฮโฟลว์” ให้มีใช้เพียงพอ เพื่อตัดตอนผู้ป่วยปอดอักเสบโควิดไม่ให้ลุกลามไปจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและไม่ต้องเสียชีวิตในที่สุด สิ่งที่ตามมาคือ เราต้องมีเตียง “ระดับ 2” ในโรงพยาบาลหลักที่เพียงพอ เพื่อรองรับผู้ป่วยปอดอักเสบหลังได้รับการคัดกรองเข้ามาจากชุมชน (ผู้ป่วยระดับสีเหลืองและสีแดง) ผมยังหนักใจว่าเราจะไม่มีเตียงประเภทนี้เพียงพอในช่วง 10 วันข้างหน้า เพื่อรองรับผู้ป่วยใหม่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลที่ยังไม่ยอมลดและอาจจะเพิ่มเสียด้วยซ้ำ เป็นเพราะการขยายศักยภาพในโรงพยาบาลหลักเริ่มมีข้อจำกัด

หากจำกันได้ โรงพยาบาลเฉพาะกิจโควิดอู่ฮั่น ถูกจัดสร้างสำเร็จภายใน 10 วัน ผมเคยเชื่อว่าประเทศไทยไม่น่าจะต้องทำเช่นนั้น มาถึงตรงนี้ผมเปลี่ยนใจแล้ว แต่การจะเนรมิตสิ่งนี้ขึ้นใหม่ในใจกลางประเทศไทยคงทำไม่ได้หรือถ้าทำได้ก็คงนานจนไม่ทันใช้ จึงฝันที่อยากจะดัดแปลงโรงพยาบาลสักแห่งหนึ่งให้เป็น “โรงพยาบาลเฉพาะกิจโควิดกรุงเทพ” โดยมีขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วยปอดอักเสบโควิดระดับความรุนแรงปานกลางขึ้นไป

และเมื่ออาการทุเลาก็ส่งต่อไปดูแลในโรงพยาบาลระดับรอง โดยมีการะดมแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลหลักในส่วนกลางที่ยังพอแบ่งมาได้และเติมจากส่วนภูมิภาคที่สถานการณ์เริ่มทุเลาแล้ว มาช่วยเสริมบุคลากรเดิมของโรงพยาบาลที่ได้รับการดัดแปลงแห่งนั้น นี่น่าจะเป็นหนทางเดียวที่เราจะรอดจากการล่มสลายทางการแพทย์ในการรับมือโควิดของเมืองหลวง การเร่งขยายไอซียูหรือส่วนต่อขยายไอซียูในโรงพยาบาลหลักไม่น่าเป็นยุทธวิธีที่ดี ยิ่งถ้าเป็นไอซียูสนามตามนิยามสากลไม่ต้องพูดถึงความเป็นไปได้ในเร็ววันนี้

#โรงพยาบาลเฉพาะกิจโควิดกรุงเทพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :