นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" ระบุว่า ข่าวดี!!องค์การเภสัชกรรมของไทย จะเริ่มเดินเครื่องผลิตยาฟาวิพิราเวีย (Favipiravir) รักษาโควิดเองแล้ว ทำให้ประหยัดงบประมาณได้นับ 100 ล้านบาท
จากสถานการณ์โควิดระบาดในช่วงที่ผ่านมาในระลอกที่หนึ่ง เรามีผู้ติดเชื้อน้อยประมาณ 4,000 คน และในระลอกที่สองมีผู้ติดเชื้อประมาณ 2.4 หมื่นคน
ทำให้ความจำเป็นในการต้องใช้ยาไม่มากนัก ซึ่งมักจะใช้ 20% ของผู้ติดเชื้อ จึงใช้ยารวมกันทั้งสิ้นประมาณ 300,000 เม็ด (โดยคำนวณจากใช้ คนละ 50 เม็ด บางรายอาจใช้ถึง 90 เม็ด) จึงใช้การนำเข้ายาจากต่างประเทศ เพราะสะดวกรวดเร็วกว่า และปริมาณการใช้ก็มีไม่มากนัก
แต่เมื่อเกิดการระบาดในระลอกที่สาม ตัวเลขถึงวันนี้ (8 พฤษภาคม 2564) มีผู้ติดเชื้อระลอกนี้ 52,411 รายแล้วถ้าคำนวณการใช้ยา 20 % ของผู้ติดเชื้อเหมือนเดิม จะมีผู้ต้องใช้ยา 10,000 คน แต่ถ้าจำเป็นจะต้องเพิ่มการใช้ยาขึ้นไปถึง 50% ของผู้ติดเชื้อ ก็จะเป็น 26,000 คน
การใช้ยาก็จะต้องใช้ระดับ 5 แสนเม็ด ถึง 1.3 ล้านเม็ด เป็นเบื้องต้น และจะต้องเตรียมยาไว้อีกนับหลายล้านเม็ดจึงเกิดความวิตกกังวลว่า เราอาจจะมียาสำรองไว้ไม่พอใช้ ตลอดจนช่วงที่ผ่านมา ปริมาณยาสำรองก็ลดลงอย่างรวดเร็ว กว่าจะสั่งเข้ามาใหม่ 2,000,000 เม็ดได้ ก็หวุดหวิดเกือบจะไม่ทัน
ประกอบกับทางองค์การเภสัชกรรมเอง ก็มีความสามารถที่จะนำสารตั้งต้นจากต่างประเทศ (อินเดีย) มาผลิตเองได้แต่ติดขัดตรงที่มีบริษัทยาต่างประเทศมายื่นขอจดสิทธิบัตรยาต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้ จึงมีเสียงเรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งพิจารณาเรื่องนี้โดยเร็ว และก็ได้ผลออกมาว่า
1. กรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่รับจดสิทธิบัตรสารตั้งต้นของยาตัวนี้ เนื่องจากหมดระยะเวลาของการจดสิทธิบัตรไปแล้ว
2. ไม่รับจดสิทธิบัตรในขั้นตอนของการนำสารตั้งต้นดังกล่าวมาทำเป็นเม็ด เพราะเห็นว่าขั้นตอนไม่ได้เป็นนวัตกรรมหรือเป็นความลับที่ผู้อื่นจะทำเองไม่ได้จึงทำให้องค์การเภสัชกรรมสามารถเริ่มเดินเครื่องผลิตยาดังกล่าวได้
ยาฟาวิพิราเวีย หรือชื่อการค้าว่า อาวิแกน(Avigan) เป็นยาที่ผลิตโดยบริษัทของญี่ปุ่นได้แก่บริษัทโตยามะ เคมิคอลจำกัด ซึ่งเริ่มใช้ในญี่ปุ่นเมื่อปี 2557 รักษาโรคอีโบล่ามาก่อน เนื่องจาก โควิด-19 ยังไม่มียาที่รักษาโดยตรง จึงมีการใช้ยาที่รักษาไวรัสข้างเคียง และพบว่ายาฟาวิพิราเวียให้ผลดีพอสมควร โดยเฉพาะในรายที่มีปอดอักเสบ
เมื่อมาคำนวณงบประมาณที่จะประหยัดได้ พบว่าจากเดิมเม็ดละ 120 บาท องค์การเภสัชกรรมผลิตได้ที่เม็ดละ 40 บาทจึงทำให้คนหนึ่งซึ่งใช้ 50 เม็ด เป็นเงิน 6000 บาท ลดค่าใช้จ่ายเหลือเพียง 2,000 บาทประหยัดไปคนละ 4,000 บาท 10,000 คน ก็จะประหยัด 40 ล้านบาท ถ้าการติดเชื้อยังมีเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 100,000 คน ก็จะทำให้ประหยัดได้ถึง 400 ล้านบาท
ส่วนเกณฑ์ของการให้ยานั้น ก็มีการปรับเปลี่ยนให้ยาเร็วขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ปริมาณการใช้ยาสูงมากขึ้นเมื่อเราผลิตยาได้เอง ก็จะทำให้ประหยัดงบประมาณเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญกว่าเรื่องประหยัดงบประมาณคือ ทำให้เกิดความมั่นใจว่า จะมียาใช้อยู่ตลอดเวลา
สำหรับเกณฑ์การให้ยานั้น
1. ในผู้ที่มีอาการปอดอักเสบ ให้ยาทุกราย
2. ในผู้ที่มีอาการของโควิด แต่ยังไม่มีปอดอักเสบ ก็ให้ยาทุกราย
3. ในกรณีที่ไม่มีอาการ แต่มีโรคประจำตัวรวมถึงเป็นปัจจัยเสี่ยง ให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ที่อาจจะสั่งยาได้
4. ในรายที่ไม่มีอาการ แล้วก็ไม่มีโรคประจำตัวเสี่ยง ให้สังเกตุอาการไปก่อน ยังไม่เริ่มใช้ยา
เพราะการให้ยานั้น อาจมีผลข้างเคียง อาจเกิดตับอักเสบได้ที่สำคัญถ้าใช้ยาพร่ำเพรื่อทุกคน อาจจะก่อให้เกิดเชื้อดื้อยา แล้วผู้ที่ติดเชื้อมีอาการก็จะไม่มียาใช้ ในอนาคต
ข่าวเกี่ยวข้อง: