รัฐห่วงใยปชช. แนะก่อนไปอียู-สหรัฐฯ ตรวจสอบข้อมูลโควิด-19 รอบด้าน

09 พ.ค. 2564 | 04:55 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ค. 2564 | 11:58 น.

รัฐบาลห่วงใยประชาชน แนะ ตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้าน ก่อนไปอียู-สหรัฐฯ เพื่อฉีดวัคซีนโควิด เตือน หากมีผลข้างเคียง หรือ แพ้รุนแรง บริษัทผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบเพราะวัคซีนป้องกันโควิดได้รับอนุมัติให้ใช้งานแบบฉุกเฉินเท่านั้น

9 พฤษภาคม 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกระแสข่าวที่บางประเทศกำหนดให้การฉีดวัคซีนโควิดมาเป็นหนึ่งในเงื่อนไขในการเดินทางเข้าประเทศนั้น รัฐบาลขอชี้แจงว่า ผู้ที่มีความประสงค์เดินทางไปต่างประเทศจำเป็นต้องตรวจสอบกฎระเบียบเกี่ยวกับการเข้าเมืองและมาตรการทางด้านสาธารณสุขของประเทศปลายทางให้ชัดเจนก่อนเสมอ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงเป็นความท้าทายในหลายประเทศ และมีระดับของความรุนแรงแตกต่างกันไป

ทั้งนี้ ควรปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขของประเทศนั้นๆอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการตรวจหาเชื้อตามระยะเวลาที่กำหนดก่อนเดินทาง การเตรียมเอกสารรับรองผลตรวจเชื้อ และเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน การกักตัว ณ ที่พักอาศัย การรักษาระยะห่าง และการสวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเผยถึงกรณีการเดินทางเข้าประเทศในสหภาพยุโรป หรือ EU ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้มีการชี้แจงในเบื้องต้นไปบ้างแล้ว ว่า EU ได้ผ่อนคลายมาตรการเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ประเทศสมาชิก EU แต่ละประเทศมีอำนาจในการประกาศกฎระเบียบเกี่ยวกับการเข้าเมืองและมาตรการด้านสาธารณสุขของตนเอง โดยประเทศสมาชิก EU ที่สามารถเดินทางจากประเทศไทยได้โดยไม่มีเงื่อนไข มี 13 ประเทศ ได้แก่ โปรตุเกส สเปน อิตาลี เยอรมนี โครเอเชีย โปแลนด์ เอสโตเนีย สวีเดน ฟินแลนด์ บัลแกเรีย กรีซ เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์

ส่วนประเทศที่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดตามที่ประเทศปลายทางกำหนด 14 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เช็ก ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ลัตเวีย สโลวีเนีย สโลวาเกีย ฮังการี ลิทัวเนีย โรมาเนีย ออสเตรีย ลักเซมเบิร์ก และไซปรัส ผู้ที่จะเดินทางจึงจำเป็นต้องตรวจสอบมาตรการสาธารณสุขของประเทศปลายทาง และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศยืนยันว่า ขณะนี้ EU ยังไม่ได้กำหนดให้การฉีดวัคซีนหรือไม่ หรือการฉีดวัคซีนประเภทใดเป็นเงื่อนไขการเดินทางเข้าเขต EU และยังอยู่ในระหว่างพิจารณาวิธีการรับรองการฉีดวัคซีนฯ (Vaccination Certificate – VC) ของประเทศนอก EU ซึ่งหากพิจารณาแล้วเสร็จ ประเทศสมาชิก EU แต่ละประเทศก็จะนำไปกำหนดมาตรการและเงื่อนไขในการเดินทางเข้าต่อไป อย่างไรก็ดี ขอให้ผู้ที่ประสงค์เดินทางไปต่างประเทศติดตามข้อกำหนดของแต่ละประเทศสมาชิก EU จากเว็บไซต์ของสหภาพยุโรป

สำหรับกระแสข่าวเรื่องการเดินทางไปท่องเที่ยวและฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่สหรัฐอเมริกา โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ กล่าวถึงการรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศว่าได้มีการสั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยในสหรัฐฯ ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับชาวต่างชาติของมลรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐฯ พบว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะเรียกดูข้อมูลหลักฐานถิ่นที่อยู่ หลักฐานการทำงานหรือการศึกษาในรัฐ รวมถึงจะพิจารณาหลักฐานการเข้าเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาต และอาจปฏิเสธการให้บริการหากไม่สามารถแสดงหลักฐานตามที่ร้องขอได้

ทั้งนี้ ในแต่ละมลรัฐมีนโยบายการฉีดและแจกจ่ายวัคซีนที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยรวมจะมีการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีถิ่นพำนัก ทำงาน หรือศึกษาในมลรัฐนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ในบางมลรัฐได้จัดสรรวัคซีนให้กับผู้ไม่มีถิ่นพำนักและไม่ได้ทำงานหรือศึกษาในมลรัฐนั้น ๆ แต่ก็ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าอนุญาตให้นักท่องเที่ยว ยกเว้นมลรัฐอแลสกาที่มีนโยบายชัดเจนว่า ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป จะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาฉีดวัคซีนได้ 

นายอนุชา กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศยังเน้นย้ำว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในสหรัฐฯ ได้รับอนุมัติการใช้งานแบบฉุกเฉินเท่านั้น หากรับวัคซีนแล้วมีอาการข้างเคียงหรือการแพ้รุนแรง บริษัทฯ ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใด ๆ และหากไม่มีประกันสุขภาพที่ครอบคลุม อาจต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มีราคาสูงอีกด้วยจึงขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในสหรัฐฯ เพื่อฉีดวัคซีน โปรดศึกษาข้อมูลจากหน่วยงานทางการของสหรัฐฯ อาทิ เว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย รวมถึงนโยบายการจัดสรรวัคซีนของมลรัฐต่าง ๆ ข้อมูลการตรวจคนเข้าเมือง มาตรการด้านสาธารณสุข และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนมาตรการที่ต้องปฏิบัติเมื่อเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง