แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นทุกวัน วันนี้สถิติวันเดียว ติดเชื้อเกือบหมื่น 9,635 ราย ดับเพิ่มอีก 25 ศพ ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนัก และเสียชีวิตก็เพิ่มตามไปด้วย “การฉีดวัคซีน” ในกลุ่มคนจำนวนมาก จึงอาจเป็นใบเบิกทางให้พื้นที่นั้น ๆ คลายล็อกได้เร็วยิ่งขึ้น
อาจารย์หมอ มอ. ยกบทเรียนต่างประเทศเทียบไทยแก้โควิด
ในความเห็นของ "ศ.นพ.ขจรศักดิ์ ศิลปโภชากุล" หน่วยโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มอ. ให้ความเห็นเรื่องเกี่ยวกับกลยุทธ์ของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย ศบค.มท. ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนว่าจะหวังการฉีดวัคซีน (Vaccination) จะหยุดยั้งการระบาดของโควิดและแก้ปัญหาให้ประเทศไทยได้
คำถามที่สำคัญก็คือว่า เมื่อไหร่การระบาดถึงจะลดลง และกว่าจะถึงตอนนั้นเราจะทนได้ไหม ?
นักวิเคราะห์ต่างประเทศบอกว่าสำหรับอเมริกาและอังกฤษกว่าจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) เพียงพอก็คือไตรมาสที่ 3 ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เป็นต้นไป แต่ถ้าเป็นยุโรปจะเริ่มไตรมาสที่ 4 คือ ตั้งแต่เดือนตุลาคม เป็นต้นไป
ด้าน "บอริส จอห์นสัน" นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ตั้งปฏิทินแล้วว่าจะเลิกล็อกดาวน์ประเทศทั้งหมดในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ แต่ขณะนี้ก็ออกมาบอกว่า มีข้อยกเว้นว่าต้องไม่มีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์จากอินเดียมาก่อน
แล้วประเทศไทยล่ะ??
ศ.นพ.ขจรศักดิ์ ชี้ให้เห็นข้อมูลจากประเทศต่างๆ ก่อน ประเทศแรกก็คือ “ชิลี” เพราะชิลีฉีดวัคซีน Sinovac เหมือนประเทศไทย ซึ่งตอนที่ตั้งต้นฉีดวัคซีนชิลีมีจำนวนผู่ป่วยติดเชื้อพอๆ กับประเทศไทย
โดยชิลีเริ่มฉีดวัคซีน Sinovac วันที่ 24 ธันวาคมปลายปี 2563 ขณะนั้นชิลีมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,396 คน ซึ่งพอๆ กับประเทศไทยที่มีคนติดเชื้อ 2,112 คนเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ครั้งนั้นชิลีสามารถฉีดวัคซีนได้เร็ววันละหลายแสนโดส จนทุกคนยกนิ้วให้ว่าเก่งจะเป็นรองก็แค่อิสราเอลและ สหรัฐอาหรับเอมิเรตสเท่านั้น มาถึงขณะนี้ชิลีสามารถฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรได้เกินกว่า 3 ใน 4 แล้ว
คำถามที่ตามมาก็คือ ชิลีสามารถหยุดยั้งการระบาดของโควิดได้หรือไม่ สรุปว่าไม่ได้ เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อยังพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง
จนรัฐบาลชิลีทนไม่ไหวประกาศล็อกดาวน์ ในวันที่ 14 มีนาคม ซึ่งขณะนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเวันละเกือบ
6, 000 คนต่อวัน จนเตียงไอซียูมีไม่เพียงพอ
ทำไมถึงไม่ได้ผล?
เหตุผลก็คือ วันที่ 14 มีนาคม ถึงแม้ชิลีจะฉีดได้เร็วเป็นที่ 3 ของโลก แต่ก็ฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากร ได้เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น
ดังนั้นเมื่อการขยายเชื้อสูงมากเปอร์เซ็นต์ของภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ที่ต้องไปถึงจึงสูงเกินไป แต่เหตุผลที่สำคัญกว่าก็คือ การที่ทั้งรัฐบาลและประชาชนคิดว่ามีฉีดวัคซีนแล้ว ฉีดวัคซีนได้เร็ว รัฐบาลก็ให้มีการเปิดประเทศ ส่งเสริมให้ท่องเที่ยวเพราะว่าเป็นช่วงซัมเมอร์ที่เป็นฤดูการท่องเที่ยวของซีกโลกใต้ ประชาชนออกท่องเที่ยว
บทสรุปดังนี้
เมื่อกลับมาดูประเทศอังกฤษ ปรากฏว่ามีการล็อกดาวน์ทั้งหมด 3 ครั้ง การล็อกดาวน์ครั้งที่ 2 ที่ทำมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถูกประกาศผ่อนคลาย ในวันที่ 2 ธันวาคม เพราะรัฐบาลทนแรงกดดันไม่ไหว ประชาชนต้องการคริสต์มาส ซึ่งในช่วงนั้นอังกฤษมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละกว่า 1.6 หมื่นคน
หลังจากนั้น 6 วัน คือ วันที่ 8 ธันวาคม ก็เริ่มทำการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ผลปรากฏว่า ฉีดไปได้กว่า 1 เดือน จำนวนผู้ติดเชื้อเดือนธันวาคมและมกราคมกลับไม่ลดลง แถมยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ปล่อยให้มีการเคลื่อนที่ของประชาชน ในช่วงคริสต์มาส กลายเป็นมีผู้ติดเชื้อวันละ 60,000 กว่าคน
“ค่า R Number หรือการขยายเชื้อที่ก่อนเคยต่ำกว่า 1 ก็เพิ่มขึ้นเป็นเกินกว่า 1 และมีการทำโมเดลทางคณิตศาสตร์ คำนวณออกมาว่า ต่อให้วัคซีนมีประสิทธิภาพ 85% การฉีดวัคซีนอย่างเดียวโดยไม่มีมาตรการอื่นช่วยด้วย ค่า R Number ก็จะยังมากกว่า 1 และจะมีคนตายเพิ่มขึ้น 20,000 กว่าคน” ศ.นพ.ขจรศักดิ์ อธิบาย
ดังนั้นในวันที่ 4 มกราคม 2563 อังกฤษก็ประกาศล็อกดาวน์เป็นครั้งที่ 3 และฉีดวัคซีนต่อไป แต่ไม่ผลีผลามเลิกล็อกดาวน์ทันทีทันใด แต่จะทำเป็นขั้นเป็นตอน พร้อมตั้งธงชัยไว้ว่า จะเลิกล็อกดาวน์ ในวันที่ 21 มิถุนายน
อังกฤษจะทำได้หรือเปล่า?
ปรากฏว่าก็เป็นไปตามทฤษฎีและประสบการณ์ที่เกิดที่เมืองจีน และประเทศอื่นๆที่พบว่าหลังจากประกาศล็อกดาวน์ได้ประมาณ 7-10 วัน จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่มันจะเริ่มลดลง ซึ่งขณะนี้ในอังกฤษก็ลดลงเรื่อยๆ มาอยู่ที่ประมาณวันละ 2,000 คน
ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีนอังกฤษฉีดได้วันละ 3 - 4 แสนคน แต่ก็ฉีดได้เพียงประมาณครึ่งนึงเท่านั้น
“ทำไมอังกฤษพอใจ จนกระทั่งสามารถผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ไปได้ตั้งหลายอย่าง เรื่องของเรื่องก็มีอยู่ว่า ตอนนี้คนอังกฤษตายจากโควิดน้อยมาก คือ แต่ละวันมีแค่ 10-20 คนเท่านั้น และบาง วันก็ไม่มีคนตายใหม่เลย ทั้งทั้งที่มีจำนวนคนติดเชื้อใหม่ประมาณวันละ 2,000 คน แล้วเกิดอะไรขึ้นทำไมอังกฤษฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรได้เพียงครึ่งเดียว จำนวนเคสก็ยังเยอะ แต่ตายแค่ 10-20 คน คำตอบก็อยู่ที่ว่า ถึงแม้จะฉีดวัคซีนทั้งประเทศได้เพียงครึ่งเดียว แต่ถ้าดูเฉพาะกลุ่มคนสูงอายุหรือมีโรค ประจำตัว อังกฤษฉีดวัคซีนได้มากกว่า 90% ของคนกลุ่มเสี่ยงตายเหล่านั้น จากข้อมูลพบว่าอเมริกาก็เช่นเดียวกันและนอกจากนี้ตัวเลขจากอิสราเอลก็แสดงว่าคนไข้ที่ถูกใส่ท่อช่วยหายใจก็น้อยลงด้วย” ศ.นพ.ขจรศักดิ์ ขยายความ
เมื่อย้อนกลับมาดูประเทศชิลี ก็เหมือนกันกับอังกฤษ คือ ต้องประกาศล็อกดาวน์ ผ่านไป 3 สัปดาห์ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ก็ลด
ซึ่งชิลีฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ 3 ใน 4 แล้ว แต่จำนวนผู้ติดเชื้อแต่ละวันตกวันละประมาณ 6,000 พันกว่าคน แต่ที่สำคัญกว่าก็คือว่า จำนวนผู้เสียชีวิตแต่ละวันไม่ได้เพิ่มขึ้นตามแต่กลับลดลงด้วยซ้ำ
สาเหตุก็เพราะว่าแม้ชิลีจะฉีดวัคซีนให้ประชากรทั้งหมดได้เพียง 3 ใน 4 ก็จริง สำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ ชิลีสามารถฉีดได้มากกว่าร้อยละ 80 ซึ่งเป็นผลพวงจากโปรแกรมการฉีด วัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับคนแก่ซึ่งชิลีทำมาเป็นประจำทุกปี
“ผมอยากจะสรุปว่า การฉีดวัคซีนควรตั้งเป้าไปที่การลดอัตราตาย มากกว่าที่จะตั้งเป้าเพื่อการลดการระบาด การฉีดวัคซีนเพื่อลดการระบาด อาจจะทำได้ยากหรือถ้าทำได้ก็จะช้าจน overload ระบบ ICU ของเรา และ ถ้าอยากจะให้การระบาดลดได้เร็ว เราก็ต้องใช้การล็อกดาวน์ช่วย Mass vaccination ช่วยลดอัตราตายได้แน่ๆ และเร็วกว่าด้วย ดังนั้นควรระดมฉีดวัคซีนคนแก่และคนมีโรค ประจำตัวก่อน ไม่ควรเสียเวลาและเสียวัคซีนไปฉีดกลุ่มอื่นเป็นเบี้ยหัวแตก ถ้าเป็นผม ผมจะระดมฉีดคนแก่จำนวน 1.1 ล้านคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อนกลุ่มอื่น” ศ.นพ.ขจรศักดิ์ สรุปและคาดการณ์ว่า
สงครามโควิดรอบ 3 นี้จะยืดเยื้อเป็นหลายเดือน การฉีดวัคซีนอย่างเดียวอาจจะลดการระบาดได้ช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเริ่มต้นด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูง ตัวอย่างเช่น ชิลีที่ฉีดวัคซีนได้เร็ว ฉีดไป 3 เดือนครึ่ง จำนวนผู้ติดเชื้อก็ยังไม่ลดลง จนต้องล็อกดาวน์ช่วย อังกฤษก็ใช้เวลากว่า 5 เดือนกว่ารวมทั้งล็อกดาวน์ กว่าจะมาถึงจุดที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการได้
ศ.นพ.ขจรศักดิ์ บอกอีกว่า ยังมีตัวอย่างประเทศอื่นอีกที่ลดการระบาดได้ค่อนข้างเร็ว และลดอัตราเสียชีวิตได้เร็วด้วย เช่น ประเทศ ไอร์แลนด์ และมีตัวอย่างประเทศที่ลดการระบาดได้ช้า แต่ก็สามารถลดอัตราตายได้ด้วยวัคซีน เช่น ประเทศ สวีเดน
อย่างไรก็ตามจากยอดผู้ติดเชื้อในวันนี้ (17 พ.ค.64) สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการกำลังสวนทางกันหรือไม่ เพราะวันนี้เริ่มผ่อนคลายมาตรการคนได้นั่งทานอาหารในร้าน โรงเรียนก็ใกล้จะเปิดเทอมวันที่ 1 มิถุนายนนี้ คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ หลายคนต้องการฉีดวัคซีนแต่ลงทะเยียนไม่ได้ และยังมีคำถามมากมายเกี่ยวกับวัคซีนที่ยังไม่คลายความสงสัย กังวลใจ
ประวัติศาสตราจารย์นายแพทย์ขจรศักดิ์ ศิลปโภชากุล
สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ.2516
ศึกษาต่อเนื่องจนเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2520
ก่อนจะไปฝึกอบรมเพิ่มเติมด้านโรคติดเชื้อที่สหรัฐอเมริกา
แม้ขณะนี้จะเกษียณอายุราชการไปแล้วแต่อาจารย์หมอขจรศักดิ์ ก็ยังคงช่วยสอนนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน แพทย์และพยาบาลทั้งในและนอกโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง