22 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (21 พ.ค.64) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยช่วงหนึ่งระหว่างการแถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนโควิด ว่า รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข จัดหาวัคซีนฉีดให้แก่ประชาชนด้วยความสมัครใจไม่คิดมูลค่าเพื่อป้องกันควบคุมโรคและลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต โดยวัคซีนหลักของประเทศไทย คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ที่จะทยอยส่งมอบจำนวนมากในช่วงเดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป ร่วมกับวัคซีนอื่นที่จะจัดหามาเพิ่มเติม
โดยล่าสุด ศบค.ชุดใหญ่ได้เห็นชอบแผนการกระจายวัคซีนแล้ว แต่จากการระบาดของโรคโควิด 19 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงเร่งรัดจัดหาวัคซีนล่วงหน้าก่อนแผนหลักเพื่อมาควบคุมการแพร่ระบาดตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2564 กระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ 2.6 ล้านโดส สามารถฉีดได้ 2.5 ล้านโดส แสดงถึงศักยภาพการฉีดของประเทศไทย แม้จะดูว่า ตัวเลขการฉีดน้อยในเวลานี้ แต่เมื่อมีการฉีดวัคซีนตามแผนหลักคาดว่าจะฉีดวัคซีนได้เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว
ส่วนที่มีการสอบถามว่าภาคเอกชนนำวัคซีนเข้ามาได้หรือไม่ เนื่องจากขณะนี้มีวัคซีนโควิด 19 ขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉินจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว 4 ราย คือ แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ซิโนแวค (Sinovac) จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และโมเดอร์นา (Moderna) ยังมีอีกหลายรายที่รอขึ้นทะเบียน เช่น ไฟเซอร์ เป็นต้น
ดังนั้น ภาคเอกชนต่างๆ สามารถจัดหาวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้วเข้ามาในประเทศไทยได้ แต่ที่ผ่านมาบริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้องการขายให้ภาครัฐโดยตรง ถือเป็นสิทธิของผู้ขาย คณะกรรมการด้านวัคซีนทางเลือกจึงมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนในการเจรจานำวัคซีนเข้ามา จะเห็นว่า ไม่เคยมีการปิดกั้นการนำวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนแล้วเข้ามาในประเทศไทย
“จากการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนหลายราย ส่วนใหญ่จะส่งมอบวัคซีนให้ได้ในไตรมาสที่ 4 หรือประมาณเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งมีข่าวดีว่า หลายบริษัทจะเริ่มมีการนำวัคซีนจากแหล่งอื่นๆ มาให้ประเทศไทย อาจได้วัคซีนเข้ามาอีกหลายตัว หากมีความชัดเจนจะรายงานความคืบหน้าต่อไป และย้ำว่า การจัดซื้อวัคซีนมีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เพื่อความโปร่งใสเสมอ” นายแพทย์โอภาสกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง