นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าววานนี้ (25 พ.ค.) กรณี การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่จะเริ่มฉีดให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม ในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ว่า ได้หารือร่วมกับ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า มาโดยตลอด ซึ่งได้รับการยืนยันว่าจะส่งมอบวัคซีนให้ไทยทันภายในเดือนมิถุนายนนี้ตามกำหนด อย่างไรก็ตามทุกอย่างมียืดหยุ่น แต่ก็อยู่ในกรอบใหญ่ สัญญาเขียนว่าจะส่งมอบให้ทุกเดือน ซึ่งในทุกเดือน กรมควบคุมโรคจะประชุมร่วมกับบริษัท แอสตร้าฯ ว่าควรจะได้จำนวนวัคซีนเดือนละเท่าไร ให้สอดคล้องกับกำลังการฉีดของไทย และการส่งมอบวัคซีนจะเป็นการทยอยส่งต่อเนื่อง (Rolling)
“ช่วงเช้านี้ (25 พ.ค.) บริษัท แอสตร้าฯก็มาสรุปกับเรา เพราะเขาคงโดนโซเชียลบีบเยอะ เขาก็มาหา แล้วว่าไม่มีอะไร ทุกอย่างก็ดำเนินการอยู่ ฝั่ง สธ.ก็บอกได้อย่างเดียวว่าเรามีสัญญาระหว่างกัน ก็ต้องปฏิบัติตามสัญญา เขาส่งของมาเราก็ชำระเงินให้ทันเวลา เขาก็บอกว่าทุกอย่างอยู่ระหว่างดำเนินงาน เราก็บอกว่าหากประชาชนมีความสงสัย ทางแอสตร้าฯต้องออกมาพูด จะให้ สธ.พูดแทนไม่ได้ เพราะเขาเป็นผู้ผลิต สธ.เป็นผู้ซื้อ ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ ก็ต้องส่งของมา เราก็ยืนยันไป เขาก็ยืนยันว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญา"นายอนุทินกล่าว
ต่อคำถามที่ว่า การฉีดวัคซีนจะมีขึ้นในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ หมายความว่าวัคซีนต้องส่งมอบก่อนหน้านั้นเพื่อให้มีเวลาในการตรวจสอบคุณภาพการผลิตล็อตที่จัดส่งใช่หรือไม่ นายอนุทินตอบว่า นับจากวันนี้ยังเหลือเวลาอีกหลายวัน ตอนที่วัคซีนซิโนแวคเข้ามาล็อตแรก วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ต้องตรวจรับ มีซีโอเอ แต่แอสตร้าฯตรวจแล้ว ส่วนการตรวจล็อตรีลีสต์ (ล็อตที่เพิ่งเข้ามา) นั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ใช้เวลา 3-4 วัน ส่วนเรื่องของจำนวนนั้น ดังกล่าวมาแล้วว่าเป็นการดำเนินการแบบทยอยส่งตามแผนซึ่งเป็นไปตามกำลังการผลิต และความสามารถในการฉีดวัคซีนของประเทศไทย แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องมีให้ฉีดได้ตลอดเวลา
ในส่วนของการกระจายวัคซีนนั้น นายอนุทินอธิบายว่า “ต้องถามอธิบดีกรมควบคุมโรคว่ามีการจัดแผนกระจายวัคซีนอย่างไร เพราะตอนนี้ สธ.เป็นผู้ส่งวัคซีนตามคำสั่งจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คณะกรรมการหารือกับ ปลัด สธ. อธิบดีกรมควบคุมโรค พิจารณาว่าจะส่งไปที่ไหน เมื่อไร อย่างไร หากตกลงเห็นด้วย ไม่มีใครโอเวอร์เคลมมา ขอเยอะไว้ก่อน เขาก็มีวิธีบริหารจัดการ มีสูตรการคำนวณของเขา เมื่อตกลงกันได้ กรมควบคุมโรคในฐานะผู้ถือสต๊อกวัคซีน ก็ดำเนินการส่งไปให้ตามขั้นตอนปกติ”
นอกจากนี้ นายอนุทินยังกล่าวเกี่ยวกับกรณีบริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย ที่ยื่นเทอมชีท (Term Sheet) เป็นร่างเงื่อนไขมาแล้ว ทางสธ.ก็ส่งร่างสัญญาไปที่อัยการสูงสุด เพื่อการพิจารณาว่ารับเงื่อนไขได้หรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของการจัดซื้อจัดหา เนื่องจากครั้งนี้ไม่เหมือนกับกระบวนการทั่วไป เพราะเป็นการระบุว่าจะซื้อยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง เป็นวัคซีนที่นำมาใช้ในสถานการณ์โควิด-19 เงื่อนไขต่างๆ ก็อาจจะไม่เหมือนแบบฟอร์มทั่วไป ก็ต้องส่งให้อัยการลงความเห็น โดยกรมควบคุมโรคมีเวลา 14 วัน ในการลงนามในเทอมชีท หลังจากลงนามแล้วทางไฟเซอร์ก็จะยื่นเอกสารมาขึ้นทะเบียนวัคซีนในประเทศไทย จากนั้นอีก 30 วัน ก็ต้องมาเจรจาสัญญาจัดซื้อจัดหา (DSA) ซึ่งหลังจากที่ลงนามฉบับนี้ จะทำให้เราทราบว่าจะมีการจัดส่งวัคซีนเท่าไรในแต่ละเดือน แต่ก็จะอยู่ในช่วงนี้ไปจนถึงครึ่งปี จำนวน 20 ล้านโดส ขณะเดียวกัน วัคซีนซิโนฟาร์ม ที่บริษัท ไบโอเจเนเทค ได้ยื่นเอกสารขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาครบแล้ว คาดว่าในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ ทางคณะกรรมการของ อย.จะมีการประชุมหารือกันเพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง