ละเอียดยิบ มติศบค. "แผนจัดสรร-กระจาย-ฉีดวัคซีนโควิด" 7มิ.ย. เป็นวาระแห่งชาติ

26 พ.ค. 2564 | 08:00 น.

รายงานพิเศษ : ละเอียดยิบ มติศบค. "แผนจัดสรร-กระจาย-ฉีดวัคซีนโควิด" 7มิ.ย. เป็นวาระแห่งชาติ

ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 25 พ.ค. 64  มีมติรับทราบสรุปผลการประชุมศบค. หรือ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ครั้งที่ 7/2564 ซึ่งมีการประชุมไปเมื่อวันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม 2564 

โดยหนึ่งในมติศบค. ที่มีการรายงานในที่ประชุมครม. คือ “แผนการให้บริการวัคซีนโควิด - 19”  ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอต่อที่ประชุมพิจารณา ดังนี้

แผนการจัดสรรวัคซีน AstraZeneca

: เข็มที่ 1 ในเดือนมิถุนายน - กันยายน 2564 ประเทศไทยได้กำหนดให้วัคซีน AstraZeneca เป็นวัคซีนหลักสำหรับการป้องกันโรคโควิด - 19 โดยในช่วงเดือนมิถุนายน - กันยายน 2564 มีแผนการฉีดวัคซีน AstraZeneca จำนวน 36,000,000 โดส เพื่อฉีดวัคซีนปูพรมเป็นเข็มที่ 1 

ในช่วงเดือนตุลาคม ถึง ธันวาคม 2564 มีแผนการฉีดวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มที่ 2 โดยมีกลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 จำนวน 10 กลุ่ม ดังนี้

  1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน
  2. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด - 19 หรือบริการประชาชน และมีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย
  3. ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว
  4. ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป
  5. ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค เช่น ครู พนักงานขับรถสาธารณะ ชาวไทยที่จะไปศึกษา/ ทำงาน/ประกอบธุรกิจยังต่างประเทศ
  6. คณะทูตานุทูตและครอบครัว รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ
  7. ประชาชนทั่วไป
  8. ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม
  9. นักธุรกิจ/ผู้ประกอบการ/ชาวต่างชาติ/แรงงานต่างด้าวที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย
  10. กลุ่มอื่น ๆ ตามความจำเป็น และสถานการณ์การระบาด

 

การนัดหมายผ่านองค์กร
(1) กรณีองค์กรสามารถประสานหาสถานพยาบาลเพื่อฉีดวัคซีนได้เอง ให้ติดต่อขอรับวัคซีนได้จากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร

(2) องค์กรไม่สามารถประสานหาสถานพยาบาลเพื่อฉีดวัคซีนได้เอง ให้ติดต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร เพื่อนัดหมายขอเข้ารับวัคซีนแบบกลุ่ม ณ สถานพยาบาลที่คณะกรรมการฯ กำหนด

(3) กรณีองค์กรขนาดใหญ่ที่มีบุคลากรอยู่ในหลายจังหวัดหรือองค์กรระหว่างประเทศ/หน่วยงานต่างชาติที่ติดต่อผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ให้แจ้งอธิบดีกรมควบคุมโรค โดยหาสถานพยาบาลรองรับการฉีดเอง
(4) กรณีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม (จำนวน 16,000,000 คน) ให้ดำเนินการ ดังนี้

  •  สำนักงานประกันสังคมจัดแผนฉีดวัคซีนโดยตรง
  •  กำหนดสถานพยาบาลที่ฉีดวัคซีนตามสิทธิ และเชิงรุกนอกสถานพยาบาล
  •  ดำเนินงานร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/สำนักงานประกันสังคม

การจัดระบบการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19

สำหรับกลุ่มเป้าหมายจำเพาะ   โดยให้สามารถเข้ารับวัคซีนตั้งแต่วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ดังนี้

(1) กลุ่มคณะทูตานุทูตและองค์กรระหว่างประเทศ

  • กรณีองค์กรระหว่างประเทศ/หน่วยงานต่างชาติที่ติดต่อผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ให้แจ้งหนังสือมายังอธิบดีกรมควบคุมโรคเพื่อขอรับวัคซีนไปฉีดให้กับบุคลากรในสังกัดได้
  • กรณีประสงค์จะรับวัคซีนเป็นรายบุคคล สามารถนัดหมายโดยตรงเพื่อเข้ารับบริการกับโรงพยาบาลที่มีความพร้อมให้บริการชาวต่างชาติ

(2) กลุ่มชาวไทยที่จะขอรับวัคซีนก่อนไปศึกษาต่อ/ทำงานในต่างประเทศ

     (2.1) กรณีผ่านองค์กร เช่น หน่วยงานผู้ให้ทุนการศึกษา สถานประกอบการ เป็นต้น

  •  องค์กรสามารถประสานหาสถานพยาบาลเพื่อฉีดวัคซีนได้เอง ให้ติดต่อขอรับวัคซีนได้จากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร
  •  องค์กรไม่สามารถประสานหาสถานพยาบาลเพื่อฉีดวัคซีนได้เอง ให้ติดต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร เพื่อนัดหมายขอเข้ารับวัคซีนแบบกลุ่ม ณ สถานพยาบาลที่คณะกรรมการฯ กำหนด

(2.2) กรณีประสงค์จะรับวัคซีนเป็นรายบุคคล

  • ลงทะเบียนและเข้ารับวัคซีนได้ 3 ช่องทาง คือ (1) “หมอพร้อม” (Line OA และ Application) (2) นัดหมายผ่านสถานพยาบาล หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และ (3) การลงทะเบียน ณ จุดบริการ (On-site Registration)
  •  ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรณีการเดินไปศึกษาต่อหรือทำงานในต่างประเทศ สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลบางรัก โดยจะต้องแสดงหลักฐานการเดินทางไปศึกษาหรือทำงานในต่างประเทศ และหากมีสถานพยาบาลเพิ่มเติมตรวจสอบได้ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร

 

ระบบบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ที่ประชุมมีมติ ดังนี้

(1) เห็นชอบแผนการจัดสรรวัคซีน AstraZeneca รอบเดือนมิถุนายน - กันยายน 2564

(2) เห็นชอบช่องทางการลงทะเบียนและเข้ารับวัคซีน 3 ช่องทาง คือ

  •  การจองผ่าน “หมอพร้อม” (Line OA และ Application)
  •  การนัดหมายผ่านสถานพยาบาล หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือผ่านองค์กร หรือช่องทางอื่นที่จังหวัด/กรุงเทพมหานคร จัดเพิ่มเติม
  •  การลงทะเบียน ณ จุดบริการ (On-site Registration)

(3) เห็นชอบระบบการให้บริการวัคซีนสำหรับกลุ่มเป้าหมายจำเพาะ เช่น คณะทูตานุทูตและองค์กรระหว่างประเทศ กลุ่มชาวไทยที่จะขอรับวัคซีนก่อนไปศึกษาต่อ/ทำงานในต่างประเทศ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม

(4) มอบหมายให้ทุกหน่วยงานจัดการประชาสัมพันธ์เรื่องช่องทางการรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 และการให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายจำเพาะให้ทราบโดยทั่วกัน

(5) ให้เริ่มการฉีดวัคซีนทั้งระบบเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี

  1. ให้ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปก.ศบค.) บูรณาการความร่วมมือ ทั้งข้อมูลผู้ป่วย การบริหารจัดการเตียง อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์ การบริหารจัดการวัคซีน ฯลฯ โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่มีความพร้อมเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการให้มากที่สุด
  2. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด รณรงค์และเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในจังหวัดอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ โดยจัดเก็บข้อมูลผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้าระบบฐานข้อมูล ทั้งนี้ ให้ประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนให้กระชับและเข้าใจง่าย
  3. ให้ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปก.ศบค.) ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 (ศปก.สธ.) ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ติดตามและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดอย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุดในเวลาที่รวดเร็ว
  4. ให้กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และกระทรวงแรงงาน กำกับดูแลให้ผู้ประกอบการให้ความช่วยเหลือและดูแลแรงงานต่างด้าวของตนที่ติดเชื้อ และดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขในการสอบสวนโรค ตรวจหาเชื้อเชิงรุก การกักกันตัว เพื่อป้องกันมิให้การแพร่ระบาดกระจายไปยังพื้นที่อื่น
  5. ให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดการดำเนินการตามแผนการกระจายวัคซีน โดยประชาชนที่ประสงค์ฉีดวัคซีน ต้องได้ฉีดวัคซีน บริหารจัดการการฉีดวัคซีนให้เหมาะสมและไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ เช่น ในพื้นที่เสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดมาก ผู้ที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม หรือช่องทางต่างๆ ผู้ที่แจ้งความประสงค์เป็นหมู่คณะ เป็นต้น เพื่อให้การกระจายวัคซีนครอบคลุมประชากรไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 70 - 80 ภายในเดือนกันยายน 2564
  6. ให้กระทรวงสาธารณสุข ดูแลสวัสดิการให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เช่น การทำประกันชีวิต การปรับปรุงพัฒนาอาคารหอพัก/บ้านพัก แพทย์พยาบาล ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดให้มีสภาพที่ดีขึ้น เป็นต้น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์
  7. ให้กระทรวงศึกษาธิการ สำรวจดูแลให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่ผู้ปกครองประสบปัญหาจากภาวะวิกฤติโควิด - 19 และเตรียมการจัดระบบการเรียนการสอนให้เป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ทั้งนี้ ให้กรุงเทพมหานครกำกับดูแลความพร้อมในการจัดสรรวัคซีนให้กับครูของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร
  8. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 (ศปก.สธ.) และโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่ ข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้ติดเชื้อที่รักษาหายแล้ว สถานการณ์จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโรคโควิด - 19 ทั้งประเทศ โดยให้จัดทำแผนภาพในการสื่อสารที่เข้าใจง่าย (อาทิ รูปแบบอินโฟกราฟิก ฯลฯ)
  9. ให้กระทรวงแรงงาน บริหารจัดการกลุ่มแรงงานต่างด้าวเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายและทำงานในพื้นที่ที่กำหนด (2) กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายแต่มีการเคลื่อนย้ายสถานที่ทำงานไปนอกพื้นที่ที่กำหนดไว้ และ (3) กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้าประเทศแบบผิดกฎหมาย และขอความร่วมมือกับภาคเอกชนให้มีมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด
  10. ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) และหน่วยงานความมั่นคง ดำเนินการกวดขันและเฝ้าระวังตามพื้นที่ชายแดน เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าประเทศไทยแบบผิดกฎหมาย รวมทั้งให้เตรียมโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ชายแดนด้วย
  11. ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ควบคุมและกำชับให้สมาชิกรัฐสภาดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขในการจัดการประชุมรัฐสภาอย่างเคร่งครัด

วันที่ 26 พ.ค. 64 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. แถลงตอนหนึ่งว่า วันเดียวกันนี้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ( สมช.) ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. ที่ได้รับการสั่งการจากนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค.ประชุมเรื่องของวัคซีน ใน 2 ประเด็น คือเรื่องการลงทะเบียน และแผนการแจกจ่ายวัคซีน โดยได้ปรับแผนการลงทะเบียนเพื่อรับการฉีดวัคซีนใหม่เพิ่มเติม จากเดิมที่ใช้ระบบหมอพร้อม ขณะนี้ขอให้ชะลอการลงทะเบียนด้วยระบบหมอพร้อมไปก่อน 

ซึ่งที่ผ่านมาหมอพร้อมเป็นระบบการลงทะเบียนใน 3 ข้อหลักคือ การลงทะเบียน การติดตามการฉีดวัคซีนเข็ม 1-2 รวมทั้งผลข้างเคียง และการออกใบรับรองการฉีดวัคซีนที่ครบถ้วน ตอนนี้ให้หมอพร้อมทำงานสองข้อหลังคือติดตามการฉีดวัคซีนและเรื่องการออกใบรับรองการฉีดวัคซีน ส่วนระบบการลงทะเบียนนั้นขอให้มีทางเลือกกับประชาชน เช่น การมีแอปพลิเคชั่นเฉพาะของจังหวัด อาทิ ภูเก็ต หรือ กทม.ที่ในวันที่ 27 พ.ค.เวลา 12.00 น. ได้ขออนุมัตินายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค.แล้ว ที่จะเปิดการลงทะเบียนเป็นการเริ่มต้น

เนื่องจาก กทม.มีประชาชนจำนวนมาก จึงจะมีระบบของ กทม.โดยเฉพาะ หรือที่ จ.นนทบุรีจะมีระบบของตัวเอง ถือเป็นหน้าด่านในการลงทะเบียนของประชาชนเป็นการอำนวยความสะดวก ไม่เป็นคอขวดเหมือนเช่นเดิม

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ลงทะเบียนกับระบบหมอพร้อมโดยเฉพาะสองกลุ่มหลักคือกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และกลุ่มที่เป็น 7 กลุ่มโรคเสี่ยง ยังยืนยันว่าได้ลงทะเบียนไปแล้วอยู่ในระบบของหมอพร้อม ซึ่งจะได้รับวัคซีนในช่วงเวลาที่เหมาะสม ส่วนจะเป็นวันเวลาใดนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีนที่นำเข้ามา และจะให้เป็นลำดับต้นๆ เพราะถือว่าทุกคนให้ความร่วมมือในการแจ้งความประสงค์ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน แต่ทั้งหมดทั่วประเทศข้อมูลจะลงมาอยู่ที่ทีมงานหมอพร้อม 

ทั้งนี้ เลขาธิการ สมช.ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. ยืนยันว่า ทีมงานหมอพร้อมเข้าใจระบบเป็นอย่างดี และการดำเนินการที่ผ่านมาก็เป็นประโยชน์ และยังคงดำเนินการอยู่เช่นเดิม เพียงแต่ขยับมาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการเก็บข้อมูล ส่วนด่านหน้าคือการรับการลงทะเยียนนั้นแต่ละจังหวัดจะเอาโมเดลของ กทม. นนทบุรีหรือภูเก็ตไปใช้ในพื้นที่ของตัวเองก็ได้ หรือจะเดินไปที่โรงพยาบาลหรือพบกับ อสม. ยังสามารถใช้ได้ทุกระบบในการเข้ามารับวัคซีน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับแผนการแจกจ่ายวัคซีน นายกรัฐมนตรีในฐานะผอ.ศบค. ได้สั่งการให้ทางเลขาธิการสมช.ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. ประชุมร่วมกับปลัดกระทรวงสาธารณสุขและอธิบดีกรมควบคุมโรค โดยมีการปรับแผน การกระจายวัคซีนใหม่จากเดิมจัดสรรวัคซีนตามโควตาการจอง  ปรับมาเป็นการจัดสรรให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์อื่นขึ้นมาในเรื่องของการกระจายวัคซีน เช่น การใช้เกณฑ์เรื่องการติดเชื้อ อย่างที่ จ.เพชรบุรีมีการติดเชื้อในกลุ่มคนจำนวน 2,000 กว่าราย ก็ต้องมีการจัดสรรโควตาวัคซีนเพิ่มเพื่อการควบคุมโรค ดังนั้น อัตราการติดเชื้อหากมีความรุนแรงรายวันต้องนำมาคิดคำนวณด้วย 

นอกจากนี้ ยังต้องคิดในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม ท่องเที่ยวที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อน ซึ่งจะเป็นเกณฑ์ที่จะต้องนำเข้ามาพิจารณาด้วยเล่นกัน รวมทั้งกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เช่น แรงงานในแคมป์ต่างๆ จะต้องได้รับวัคซีนกลุ่มเฉพาะขึ้นมา เช่น ที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มขับรถสาธารณะที่ สถานีกลางบางซื่อ ถือเป็นการปรับเปลี่ยน ขณะเดียวกัน ทางมหาวิทยาลัยก็จะมีการรับผู้แจ้งความจำนงในการฉีดวัคซีนโดยทางกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมก็จะมีการฉีดให้กับกลุ่มเฉพาะถ้าจะมีการเปิดภาคการเรียนขึ้นมา 

ดังนั้น แผนการแจกจ่ายวัคซีนจะถูกปรับใหม่โดยใช้หลายเกณฑ์ จึงขอแจ้งให้ประชาชนรับทราบว่าขณะนี้ทางนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค. รับทุกข้อเสนอและนำมาสู่การจัดสรรวัคซีนใหม่โดยมอบให้ทาง ผอ.ศปก.ศบค. ดูในรายละเอียดและพื้นที่ของแต่ละจังหวัดอยู่ ยืนยันว่าเราพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศและการขับเคลื่อนต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :