พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้(28 พ.ค.64) ในช่วงตอบคำถามถึงกรณีที่ประชาชนมีความกังวลต่อการปรับแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 ว่า รัฐบาลได้ยกให้การฉีดวัคซีนโควิด-19 ถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญอันดับแรก คือ ลดอัตราการป่วย-ตาย ดังนั้นเป้าหมายกลุ่มแรกของผู้ที่จะได้ลงทะเบียนรับวัคซีน ต้องมุ่งไปที่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่หากติดเชื้อแล้วมีโอกาสที่จะป่วยรุนแรงและเสียชีวิต นั่นคือ ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ตลอดจนผู้มี 7 กลุ่มโรคประจำตัว อันดับถัดมา คือการปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ โดยมุ่งไปที่บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงต่อการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ
"เมื่อหลักการกระจายวัคซีนเป็นแบบนี้ ดังนั้นการบริหารจัดการวัคซีนในระยะแรก ที่เรามีวัคซีนจำกัดช่วงก.พ.-พ.ค. จึงเน้นการกระจายวัคซีนไปกลุ่มบุคลากรแพทย์ กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว และมีการสำรองวัคซีนสำหรับควบคุมพื้นที่เสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดฉุกเฉิน" พญ.อภิสมัยระบุ
อย่างไรก็ดี ได้มีการเสนอข้อมูลเพิ่มเติมจากบางจังหวัดที่เห็นว่าหลักการจัดสรรวัคซีนในระยะแรกที่ให้กับบุคลากรแพทย์ ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง อาจจะไม่สอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง เช่น บางจังหวัดที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยว หรือจังหวัดที่อยู่ติดกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งบางจังหวัดที่เปิดให้มี Local Quarantine หรือ State Quarantine จึงได้เสนอแนะแนวทางเข้ามาที่ ศบค.เพื่อขอปรับการจัดสรรวัคซีนให้มีความสอดคล้องกับบริบทของในจังหวัดนั้นๆ
ดังนั้น เมื่อเข้าสู่ระยะที่ไทยมีวัคซีนมากขึ้นเช่นในปัจุบันนี้ จึงได้วางเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร 70% ของประเทศ หรือคิดเป็น 50 ล้านคน (ไม่นับเด็ก และหญิงตั้งครรภ์) รวมแล้วต้องใช้วัคซีน 100 ล้านโดส โดยต้องฉีดเข็มแรกให้แล้วเสร็จภายในก.ย.64 และเข็มสอง ภายในธ.ค.64 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
"เมื่อแผนระยะสองมา การจัดสรรวัคซีนตามพื้นที่นั้น กรมควบคุมโรคจัดสรร 70% ของประชากรแต่ละจังหวัด คือ จัดสรรอย่างเท่าเทียมกัน แต่มีหลายจังหวัดเสนอว่า พื้นที่ระบาดน้อยทำไมได้วัคซีนมาก เป็นไปได้หรือไม่ว่าขอโควต้าวัคซีนมาใช้กับจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงสูงก่อนได้หรือไม่ ก็ฟังดูมีเหตุผล แต่จังหวัดที่ติดเชื้อน้อยก็บอกว่า เหตุที่จังหวัดมีผู้ติดเชื้อน้อยเพราะมีการทำงานหนัก มีมาตรการเข้มข้น ทำให้ควบคุมการระบาดได้ดี ดังนั้นจึงควรได้การจัดสรรวัคซีนตามโควต้าที่ควรจะได้หรือไม่ ซึ่ง ศบค.ต้องรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกพื้นที่ ที่มีบริบท และความสำคัญแตกต่างกัน" พญ.อภิสมัยกล่าว
ดังนั้น ศบค.จึงได้ปรับเปลี่ยนแผนการจัดสรรวัคซีนให้ตามข้อเสนอแนะของแต่ละพื้นที่ที่มีเข้ามา เพื่อให้ตรงกับสถานการณ์มากขึ้น ทั้งการพิจารณาตามพื้นที่ และบุคคลกลุ่มเสี่ยง
สำหรับการลงทะเบียนจองรับวัคซีนโควิด-19 ผ่านระบบหมอพร้อมนั้น ยืนยันว่าผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง ที่ลงทะเบียนกับหมอพร้อมสำเร็จแล้ว จะยังคงได้รับการฉีดวัคซีนตามวันเวลาที่นัดหมายเดิม อย่างไรก็ดี หากจังหวัดใดเห็นว่ามีช่องทางเพิ่มเติมสำหรับการพัฒนาการลงทะเบียนให้เหมาะสมกับบริบทของจังหวัดตัวเองก็สามารถทำได้ เช่น ภูเก็ต นนทบุรี เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ เป็นต้น
"หมอพร้อมไม่ได้ยกเลิก แต่เปิดช่องทางให้ลงทะเบียนเข้าถึงการฉีดวัคซีน และจองวัคซีนมากขึ้น เหมาะสมกับบริบทแต่ละพื้นที่...ย้ำว่ากลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเสี่ยงที่ได้ลงทะเบียนสำเร็จแล้วกับหมอพร้อม ไม่ต้องกังวล จะได้รับการฉีดวัคซีนตามนัดหมายแน่นอน" พญ.อภิสมัย กล่าว
แต่หากผู้ที่ลงทะเบียนแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันวัน เวลา สถานที่ฉีดวัคซีนนั้น ถือว่ายังลงทะเบียนไม่สำเร็จ ซึ่งประชาชนสามารถเลือกไปใช้การลงทะเบียนรับวัคซีนในช่องทางอื่นเพิ่มเติมได้เช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง