จีนฉีดวัคซีนโควิดทั่วประเทศทะลุ 704.8 ล้านโดสแล้ว

04 มิ.ย. 2564 | 05:50 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มิ.ย. 2564 | 05:56 น.

จีนฉีดวัคซีนโควิดทั่วประเทศทะลุ 704.8 ล้านโดสแล้ว ด้าน สธ.รับ "วัคซีนแอสตราเซเนกา" ลอตแรกที่ผลิตในไทย จำนวน 1.8 ล้านโดส พร้อมฉีดทั่วประเทศ 7 มิ.ย.

วันที่ 4 มิ.ย. สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดี (3 มิ.ย.) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) เปิดเผยว่า จีนฉีดวัคซีนโควิด ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ให้ประชาชนมากกว่า 704.8 ล้านโดสแล้ว เมื่อนับถึงวันพุธ (2 มิ.ย.)

อัตราการ ฉีดวัคซีนโควิด ของจีนพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว หลังจากจีนฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดส เมื่อวันที่ 27 มี.ค. โดยยอดการฉีดพุ่งจาก 100 ล้านโดสเป็น 200 ล้านโดสภายใน 25 วัน ก่อนจะก้าวกระโดดจาก 600 ล้านโดสเป็น 700 ล้านโดสภายในเวลาเพียง 5 วัน

เจิ้งจงเหว่ย เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการฯ ระบุว่ามีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่เข้าสู่ช่วงการทดลองทางคลินิกในจีนรวม 20 ตัว นับตั้งแต่ปี 2020 และ “จีนกำลังเป็นผู้นำด้านจำนวนวัคซีนที่อยู่ระหว่างการพัฒนา”

ขณะจีนเร่งการฉีดวัคซีนในประเทศ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาวัคซีน จีนยังคงปฏิบัติตามพันธกิจทำให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็น “สินค้าสาธารณะระดับโลก” แม้จีนเองจะมีประชากรจำนวนมากและประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีน

ปัจจุบันจีนมอบวัคซีนให้ต่างประเทศมากกว่า 350 ล้านโดสแล้ว พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนแก่ 80 ประเทศกำลังพัฒนา และส่งออกวัคซีนไปยังกว่า 40 ประเทศ ซึ่งมีส่วนช่วยให้หลายประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนในราคาย่อมเยายิ่งขึ้น

เมื่อวันอังคาร (1 มิ.ย.) องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้อนุมัติการใช้งานในกรณีฉุกเฉินแก่โคโรนาแวค (CoronaVac) วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่พัฒนาโดยซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) บริษัทเภสัชภัณฑ์ของจีน ถือเป็นวัคซีนจีนตัวที่ 2 ในบัญชีการใช้งานในกรณีฉุกเฉินขององค์การฯ (WHO Emergency Use Listing) ถัดจากซิโนฟาร์ม ซึ่งได้รับอนุมัติเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม

คำอนุมัตินี้เป็นหลักฐานอันดีว่าวัคซีนจีนทั้งสองตัวปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยอุด “ช่องว่างด้านการสร้างภูมิคุ้มกัน” ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการจัดสรรวัคซีนอย่างไม่เท่าเทียม

จีนยังได้ให้คำมั่นจะยกระดับการดำเนินการที่ปฏิบัติได้จริงเพื่อต่อสู้กับการระบาดใหญ่ทั่วโลก ขณะร่วมการประชุมสุดยอดด้านสุขภาพโลกช่วงปลายเดือนพฤษภาคม โดยจีนสนับสนุนให้ผู้ผลิตวัคซีนจีนส่งต่อเทคโนโลยีการผลิตไปให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา พร้อมดำเนินการผลิตร่วมกัน

นอกจากนี้จีนประกาศสนับสนุนงดเว้นการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และส่งเสริมองค์การการค้าโลก (WTO) และสถาบันนานาชาติแห่งอื่นๆ ตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นนี้โดยเร็ว

จีนเสนอจัดการประชุมระหว่างประเทศด้านความร่วมมือเกี่ยวกับวัคซีน เพื่อศึกษาวิธีส่งเสริมการจัดสรรวัคซีนอย่างยุติธรรมและเสมอภาคทั่วโลก

“เราคาดว่ากำลังการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ดังนั้นผู้ประกอบการผลิตวัคซีนจีนและวัคซีนจีนจะมีส่วนช่วยสร้างประชาคมสุขภาพระดับโลกสำหรับทุกฝ่ายยิ่งขึ้นอีก” เจิ้งกล่าว

วัคซีนโควิด

ส่วนในประเทศทไทยความคืบหน้าล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบวัคซีน  ได้รับ "วัคซีนแอสตราเซเนกา" จากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 1.8 ล้านโดสแล้ว เพื่อนำไปกระจายในพื้นที่ต่างจังหวัด เตรียมพร้อมฉีดวัคซีนโควิดให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงกลุ่มแรก (ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค) พร้อมกันทั่วประเทศ ตามแผนฉีดวัคซีนแห่งชาติ ในวันที่ 7 มิถุนายน 2564

ขณะที่ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ได้เปิดเผยตัวเลข ฉีดวัคซีนโควิด ล่าสุดว่า จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. - 3 มิ.ย. 2564)

รวม 3,961,589 โดส ใน 77 จังหวัด

จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 : 2,727,759 ราย

(จำนวนผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด)

จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 : 1,233,830 ราย

(จำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์)

** หมายเหตุ : มีการปรับการประมวลผลกลุ่มเป้าหมาย

ในระบบฐานข้อมูล MOPH Immunization Center

ข่าวที่เกี่ยวข้อง