รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
สถานการณ์ทั่วโลก 9 มิถุนายน 2564...
อินเดียติดเชื้อต่ำกว่าแสนคนติดต่อกันเป็นวันที่ 2 การระบาดของเค้าเป็นขาลงอย่างชัดเจน
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 336,496 คน รวมแล้วตอนนี้ 174,709,297 คน ตายเพิ่มอีก 8,873 คน ยอดตายรวม 3,761,059 คน 5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด ยังเป็นเช่นเดิม คือ อินเดีย บราซิล อาร์เจนตินา โคลอมเบีย และอเมริกา
อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 9,994 คน รวม 34,239,313 คน ตายเพิ่ม 353 คน ยอดเสียชีวิตรวม 613,084 คน อัตราตาย 1.8%
อินเดีย ติดเพิ่ม 91,227 คน รวม 29,088,176 คน ตายเพิ่ม 2,213 คน ยอดเสียชีวิตรวม 353,557 คน อัตราตาย 1.2%
บราซิล ติดเพิ่ม 51,317 คน รวม 17,037,129 คน ตายเพิ่มถึง 2,178 คน ยอดเสียชีวิตรวม 476,792 คน อัตราตาย 2.8%
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 6,018 คน ยอดรวม 5,719,937 คน ตายเพิ่ม 73 คน ยอดเสียชีวิตรวม 110,137 คน อัตราตาย 1.9%
ตุรกี ติดเพิ่ม 6,609 คน รวม 5,300,236 คน ตายเพิ่ม 86 คน ยอดเสียชีวิตรวม 48,341 คน อัตราตาย 0.9%
อันดับ 6-10 เป็น รัสเซีย สหราชอาณาจักร อิตาลี อาร์เจนติน่า และเยอรมัน ติดกันหลักพันถึงหลักหมื่น
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย ชิลี โบลิเวีย สเปน เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา ญี่ปุ่น เนปาล และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง แต่แนวโน้มลดลง ส่วนใหญ่อยู่หลักร้อย ยกเว้นยูเครน จอร์เจีย มองโกเลียที่ยังหลักพัน
แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน แนวโน้มลดลง ยกเว้นบางประเทศเช่น คูเวต ยูเออี อัฟกานิสถาน เป็นต้น
เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และสิงคโปร์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
ดูจาก Worldometer เช้านี้ สถิติเมื่อวานไทยเราติดเชื้อเพิ่มมากเป็นอันดับที่ 21 ของโลก
จำนวนเสียชีวิตต่อวันมากเป็นอันดับที่ 30
จำนวนผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการดูแลรักษาหรือ active case อันดับที่ 34
ส่วนจำนวนผู้ป่วยรุนแรงหรือวิกฤติ อยู่อันดับที่ 17
สถานการณ์จึงยังชัดเจนว่า แม้ทั่วโลกมีแนวโน้มการระบาดที่ลดลง แต่ไทยเรายังมีการแพร่กระจายอย่างต่อเนื่อง ยังดูไม่มีแนวโน้มลดลง
ยังย้ำเช่นเดิมว่า หัวใจสำคัญในการจัดการโรคระบาดรุนแรงนั้น คือ
หนึ่ง ระบบการตรวจคัดกรองโรคต้องมีศักยภาพทำได้มากและต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกพื้นที่ จำเป็นที่ต้องหาทางทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการตรวจได้สะดวก รวดเร็ว และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยไม่ต้องติดกฎเกณฑ์อาการหรือความเสี่ยง ยืนบนพื้นฐานความจริงที่ว่า การระบาดกระจายไปทั่ว มีสิทธิที่ทุกคนจะติดเชื้อได้ ไม่จำเป็นต้องมีอาการ และคนเราไม่มีใครที่อยากจะทรมานกายเพื่อไปแยงจมูกตรวจโดยไม่จำเป็น การทำให้ระบบบริการสามารถเข้าถึงได้ง่าย จะช่วยให้คนทราบสถานะของตนเอง และวางแผนการป้องกันตัวและปฏิบัติตัวได้ดีขึ้น
สอง นโยบายและมาตรการของรัฐ ต้องไม่นำพาความเสี่ยงต่อการระบาดเพิ่มมาสู่ประเทศ ตราบใดที่ยังควบคุมการระบาดไม่ได้ การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา จะมีโอกาสสูงที่จะทำให้ระบาดหนักขึ้น ไม่ใช่แค่ความเสี่ยงต่อการนำพาเชื้อกลายพันธุ์ต่างๆ เข้ามา แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ จะทำให้ population mobility มากขึ้น การพบปะสังสรรค์มากขึ้น การสัมผัสมากขึ้นจากการค้าขาย บริการ เดินทาง หรือท่องเที่ยว ทำให้การระบาดเดิมในประเทศที่มีอยู่ ทวีความรุนแรงขึ้น และยากต่อการควบคุม
สาม การเร่งจัดหาวัคซีนป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูง ปลอดภัย หลายหลาย และมีปริมาณเพียงพอสำหรับ"ทุกคน"ในประเทศ ทั้งคนไทย และคนต่างชาติที่อาศัยในประเทศ
ข้อดีคือ เมื่อคืนนี้มีการปลดล็อคให้ภาคส่วนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาและบริการวัคซีนให้แก่ประชาชน ทั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริการสุขภาพและสาธารณสุข
แต่หากติดตามมาตลอดจะทราบกันดีว่า ที่ผ่านมาคอขวดในการนำเข้าวัคซีน มิใช่แค่ตัวระเบียบหรือกฎหมาย แต่จะดีขึ้นกว่าเดิมหากกลไกการทำงานของหน่วยงานนโยบายด้านสาธารณสุขมีการปรับให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่าที่เคยทำมา โดยไม่ควรให้เรื่องนี้อยู่ในมือหน่วยใดหน่วยหนึ่ง แต่จำเป็นจะต้องให้ทุกภาคส่วนมีบทบาทขับเคลื่อน ภายใต้ข้อตกลงและการรับรู้ว่าระบาดรุนแรง วัคซีนป้องกันที่ใช้หรือนำเข้ามาได้รับการกลั่นกรองและอนุมัติให้ใช้กรณีฉุกเฉินจากองค์กรสากลอย่างองค์การอนามัยโลกแล้ว ดังนั้นกระบวนการต่างๆ ภายในประเทศจึงควรผ่อนคลาย และทำให้ใช้เวลาน้อยที่สุดเพื่อหาวัคซีนหลากหลายมาให้ได้ทันต่อการระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัส
และสุดท้าย ปัญหาการระบาดของเราตั้งแต่ระลอกแรก ระลอกสอง จนมาถึงระลอกสาม ต้องยอมรับว่าเกิดจากปัญหาเชิงระบบ ตั้งแต่นโยบายด้านสุขภาพ ท่องเที่ยว เดินทาง รวมถึงช่องโหว่ในการใช้อภิสิทธิ์ของหลายต่อหลายคน หลายต่อหลายกลุ่ม จนทำให้เกิดผลกระทบต่อมาในวงกว้าง
ถึงเวลาที่จะต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนกลไกนโยบายดังกล่าวให้เหมาะสม ใช้คนให้ถูกกับคุณสมบัติและทักษะที่มี
นอกจากนี้ ยิ่งหากเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนนั้น การเห็นข่าวปรากฏการณ์ที่ใช้"รหัสเรียกขาน"เพื่อลัดเลาะได้บริการก่อน ทั้งที่ไม่ได้เข้าเกณฑ์ ก็เป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบอย่างเร่งด่วนว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หากเป็นจริง ก็จำเป็นจะต้องกำจัดเหลือบที่เป็นต้นตอเหล่านั้นออกไปจากระบบ ประเทศชาติจะเจริญรุ่งเรืองได้ ต้องหาต้นตอสาเหตุของปัญหา และจัดการแก้ไข
ขอให้เราทุกคนมีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคระบาด ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด
ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า...
ล้างมือบ่อยๆ เจอคนน้อยๆ สั้นๆ อยู่ห่างมากๆ...
ด้วยรักและห่วงใย
อย่างไรก็ดี ล่าสุดได้มีการประกาศจากเว็บไซด์ราชกิจจานุกเบกษา เผยแพร่ประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่ง "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีการนำเสนอไปแล้ว โดยใจความที่สำคัญก็คือ ปลดล็อควัคซีนโควิด-19 เปิดโอกาสให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ,เอกชน ,โรงพยาบาลเอกชน ซื้อวัคซีน Covid-19 ได้ พร้อมให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนอย่างเร่งด่วน
ซึ่งในที่นี้จะขอยกตัวอย่างบางข้อของประกาศดัวกล่าว เช่น
1.ให้มีการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ที่มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอแก่ประชาชนโดยอย่างน้อยให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร (ไม่น้อยกว่าจำนวนประชากรห้าสิบล้านคน)
2.ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประสานงาน ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ในการดำเนินการขึ้นทะเบียนวัคซีนให้เป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ
3.ให้กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์ หรือสาธารณสุข แก่ประชาชน ร่วมมือกันในการดำเนินการจัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง หรือตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานนั้น ๆ กำหนด
4.เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ได้มากขึ้น สถานพยาบาลเอกชนและภาคเอกชนอาจจัดหาหรือขอรับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 จากหน่วยงานตามข้อ 3 ภายใต้กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาให้บริการประชาชนหรือบุคลากรในความดูแลได้ตามความเหมาะสม
โดยวัคซีนดังกล่าวต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยา และต้องพิจารณากำหนดราคาวัคซีนและการให้บริการที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :