จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 64 รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตามที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ (อ่านรายละเอียด)
ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบจากเอกสารที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเสนอพบว่า ตอนท้ายของผลสำรวจ มีการทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจำนวน 9 ข้อ ถึงรัฐบาล ในการแก้ปัญหาการฉีดวัคซีนโควิด ของประชาชนด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ควรประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณภาพของวัคซีนและผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน ด้วยพรีเซนเตอร์ที่มีความรู้ ประสบการณ์ หรือผู้ที่ได้รับการยอมรับจากสังคม/ประชาชน รวมทั้งผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากประชาชนทั้ง 2 กลุ่ม (ร้อยละ 46.8) คือ ผู้ที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีน (ร้อยละ 19.3) และผู้ที่ยังไม่พร้อมฉีด (ร้อยละ 27.5)
เนื่องจากวัคซีนนี้เป็นวัคซีนใหม่จึงทำให้ประชาชนเกิดความกังวลในด้านความปลอดภัยของวัคซีนเป็นพิเศษ ดังนั้นรัฐควรจะมีการกระตุ้นให้ฉีดวัคซีนโดยด่วน เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายภูมิคุ้มกันหมู่ ร้อยละ 70 ของประชาชนทั้งหมด
2. ควรตรวจสอบและสกัดกั้นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือบิดเบือนจากความเป็นจริงอย่างรวดเร็ว
3. ควรมีหน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียวเป็นผู้ให้ข้อมูลข่าวสาร และชี้แจงขั้นตอนการเข้าถึงวัคซีนที่ชัดเจน เพื่อลดความสับสนให้กับประชาชน
4. ควรเพิ่มเงินชดเชยและเร่งให้มีการประชาสัมพันธ์หลักประกันความมั่นใจเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นมาตรการที่รัฐได้มีการจัดทำไว้แล้ว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการจะได้รับเงินชดเชยอย่างแน่นอน เนื่องจากมาตรการดังกล่าวนี้มีผลต่อการตัดสินใจฉีดวัคซีนของประชาชนมากถึงร้อยละ 56.6
5. ควรเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ได้หลากหลายยี่ห้อ นอกเหนือจากวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้ เช่น ไฟเซอร์ (Pfizer) โมเดอร์นา (Moderna) เป็นต้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่ยังไม่พร้อมฉีดวัคนหรือไม่ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 หันมาฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น
6. ควรเพิ่มสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 กระจายในชุมชน/หมู่บ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เช่น สถานีอนามัย/โรงพยาบาลประจำตำบล จัดรถ mobile พร้อมเจ้าหน้าที่ลงไปในพื้นที่ชุมชนตามวันเวลาที่กำหนด เป็นต้น
7. ควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่/อาสาสมัครหรือขอความร่วมมือภาคเอกชน อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการลงทะเบียนเพื่อให้สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ได้ เช่น การลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิต 19 ที่ห้างสรรพสินค้า Operator เป็นต้น
8. ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ลงทะเบียนและจองนัดวัน เวลา การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เพื่อที่จะเข้าถึงวัคซีนได้เร็วที่สุด โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รุนแรงเป็นหลัก ซึ่งจากผลการสำรวจจะเห็นได้ว่าผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปมีความต้องการฉีดวัคซีนในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอายุ 18-29 ปี
ดังนั้น การให้ผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็วจะเป็นแรงจูงใจ และสนับสนุนให้ผู้ที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีนหันมาฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น เช่น การเปิดรับลงทะเบียนผ่าน Application ของจังหวัด/หน่วยงาน การเปิดจุดรับลงทะเบียนที่ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ หรือจัดรถ mobile เข้าไปรับลงทะเบียนในชุมชน/หมู่บ้าน เป็นต้น
9. ควรให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในแต่ละพื้นที่และกลุ่มอาชีพ ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น ง่ายเงินชดเชย/เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ช่วยเหลือค่าครองชีพ (ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง/ไทยชนะ/ม.33 เรารักกัน) ลดภาระค่าสาธารณูปโภค (ได้แก่ ไฟฟ้า/ประปา/ค่าเดินทาง) พักชำระหนี้/ลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :