รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
พบเพิ่มอีก !! ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ชื่อ Lambda พบครั้งแรกที่เปรู และแพร่ไปแล้ว 26 ประเทศทั่วโลก
องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้แจ้งการพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ชื่อแลมป์ด้า (Lambda) โดยจัดให้อยู่ในกลุ่มไวรัสที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ (VOI : Variant of Interest)
โดยธรรมชาติของไวรัสโคโรนาลำดับที่เจ็ด ซึ่งก่อโรคโควิด-19 เป็นไวรัสสารพันธุกรรมเดี่ยว (RNA) จึงมีการกลายพันธุ์ง่ายและบ่อย มีไวรัสที่กลายพันธุ์ไปแล้วหลายสิบสายพันธุ์ด้วยกัน แต่ที่มีความสำคัญเกี่ยวกับมนุษย์ จะต้องมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
1.มีความสามารถในการแพร่ระบาด ทำให้เกิดการติดเชื้อได้รวดเร็วขึ้น
2.มีผลรบกวนภูมิคุ้มกันของร่างกาย
3.ดื้อต่อวัคซีน ทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนลดลง
โดยองค์การอนามัยโลก จะนำลักษณะดังกล่าว มาจัดกลุ่มโดยแบ่งเป็น
กลุ่มแรกคือ ไวรัสที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ (VOI) เนื่องจากยังมีหลักฐานไม่ครบถ้วนชัดเจน
กลุ่มที่สองคือ ไวรัสที่น่ากังวลหรือน่าเป็นห่วง (VOC : Variant of Concern) เป็นกลุ่มที่ขยับมาจากไวรัสที่ต้องให้ความสนใจ เมื่อพบหลักฐานชัดเจนมากขึ้น ว่ากระทบเรื่องใดเรื่องหนึ่งในสามเรื่องดังกล่าว
ไวรัสที่ถูกจัดลำดับไปแล้ว เดิมมักจะใช้ชื่อเรียกตามประเทศที่ค้นพบ เช่น
ไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ
สายพันธุ์แอฟริกาใต้
สายพันธุ์บราซิล
สายพันธุ์อินเดีย เป็นต้น
แต่ต่อมาทางองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้เรียกชื่อลำดับไวรัส ตามอักษรกรีก จึงกำหนดให้
ไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ ชื่ออัลฟ่า
ไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ชื่อเบต้า
ไวรัสสายพันธุ์บราซิล ชื่อแกมมา
ไวรัสสายพันธุ์อินเดีย ชื่อเดลต้า
และขณะนี้ค้นพบไวรัสเปรู จึงตั้งชื่อว่าแลมป์ด้า โดยมีการพบว่าไวรัสนี้เริ่มกลายพันธุ์เป็นครั้งแรกที่เปรูเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 และได้เริ่มเก็บวิเคราะห์ตัวอย่างอย่างจริงจังในเดือนเมษายน 2564
พบการแพร่ครอบคลุมถึง 81% ของผู้ติดเชื้อในเปรู และพบมากถึง 32 % ในประเทศชิลี หลังจากนั้นก็ลามไปอาร์เจนตินา เอควาดอร์ และประเทศส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้ ขณะนี้มีรวม 29 ประเทศทั่วโลก
ในขณะที่ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ได้ถูกยกระดับจาก VOI ไปเป็น VOC นั้น ได้แพร่กระจายไปแล้วมากกว่า 80 ประเทศ
โดยขณะนี้แพร่อยู่ 60% ในอังกฤษและ 10% ในสหรัฐอเมริกา
ส่วนประเทศไทยเราเอง ก็พบไวรัสสายพันธุ์เดลต้าประปราย ที่แคมป์คนงานหลักสี่ และกระจายไป 10 จังหวัด 300 กว่าเคส แต่ยังไม่พบการขยายตัวมากไปกว่านั้น การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ไปจนถึงขั้นเปิดรับนักท่องเที่ยวของประเทศไทย จึงต้องนำปัจจัยเรื่องไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งแพร่ได้เร็วมากกว่าเดิม มาประกอบการพิจารณาอย่างจริงจังด้วยทุกครั้ง
มนุษย์จำเป็นจะต้องเรียนรู้ เกี่ยวกับเรื่องไวรัสโคโรนาลำดับที่เจ็ด ที่ก่อโรคโควิด-19 ว่าจะมีการกลายพันธุ์ต่อเนื่องกันไป องค์ความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เวลามีข่าวดีเรื่องวัคซีน ที่สามารถป้องกันไวรัสได้แล้ว จึงหมายถึงป้อนไวรัสสายพันธุ์เดิมเป็นหลัก เมื่อฉีดครบสองเข็ม มีภูมิคุ้มกันหมู่ หมายถึงควบคุมต่อไวรัสสายพันธุ์เดิม
ถ้ามีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ดื้อต่อวัคซีนขึ้นมา วงการแพทย์ก็ต้องเร่งพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สองเพื่อป้องกันหรือควบคุมการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และถ้ามีการกลายพันธุ์ไปอีก เราก็จะต้องมีวัคซีนรุ่นที่สาม รุ่นที่สี่ ในทำนองเดียวกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เป็นหลักความจริงข้อหนึ่งว่า มนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียว ที่สามารถจะควบคุมสั่งการทุกอย่างในโลกใบนี้ได้
ไวรัสซึ่งเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น ก็มีความสามารถในการต่อสู้กับมนุษย์หรือธรรมชาติอย่างมากด้วยเช่นกัน
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขจากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 18 มิถุนายน 64 พบว่า
ติดเชื้อเพิ่ม 3,058 ราย
สะสมระลอกที่สาม 181,919 ราย
สะสมทั้งหมด 210,782 ราย
หายป่วยกลับบ้าน 4,094 ราย
สะสม 148,984 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 22 ราย
สะสมระลอกที่สาม 1,483 ราย
สะสมทั้งหมด 1,577 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :