หลังจาก “หมอยง” เปิดรับอาสาสมัครร่วมโครงการวิจัยฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19แบบสลับฉีดระหว่าง ซิโนแวคและแอสตราเซเนกา ซึ่งเป็นโครงการวิจัยความปลอดภัย ผลการกระตุ้นภูมิต้านทานและการใช้สลับกัน (เข็มที่ 1 และ 2) ของวัคซีนโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 ชนิดเชื้อตาย (Sinovac) และไวรัสตัวนำ (AstraZeneca): การศึกษาทางคลินิก
ล่าสุดวันนี้ (19 มิถุนายน2564) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้โพสต์ผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า โควิด-19 วัคซีน ขอบคุณ อาสาสมัคร
ผมต้องขอขอบคุณจริงๆ หลังจากที่ประกาศเพียง 6 ชั่วโมง มีผู้สมัครเข้ามา ถึงกว่า 700 คน ในโครงการนี้เราได้ขอคณะกรรมการจริยธรรม เพื่อทำการศึกษาเพียง 90 คน เพื่อให้ได้ผลอย่างละเอียดและต่อไปจะได้นำไปใช้ได้จริง
ต้องขอขอบคุณ ถึงแม้ท่านไม่ได้รับเลือกเข้ามาศึกษาในโครงการนี้ ก็ขอให้ทุกคนลงชื่อฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข ให้เกิดภูมิต้านทานเพื่อป้องกันความรุนแรงของโรคกันทุกคน
ต้องขอขอบคุณจากใจจริง ในทุกโครงการที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือดีมากครับ
ที่มา : Facebook นพ.ยง ภู่วรวรรณ
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการให้วัคซีนโควิด-19 ยังแนะนำให้วัคซีนชนิดเดียวกันทั้งเข็มที่ 1 และ 2 ด้วยเหตุผลบางคนฉีดแข็มแรกแล้วแพ้ จำเป็นต้องฉีดเข็มที่สองต่างชนิดกัน เช่น เข็มแรกฉีด Sinovac เข็มที่สองฉีดเป็น AstraZeneca
การให้วัคซีน 2 เข็มต่างชนิดกัน จะเป็นประโยชน์ในกรณีที่วัคซีนขาดแคลน และต้องการฉีดเข็มแรกให้มากที่สุด ไม่ต้องเก็บวัคซีนไว้เข็มที่ 2 และเมื่อมีวัคซีนเข็มที่ 2 อาจจะใช้ต่างชนิดกันได้
ดังนั้นการสลับเปลี่ยนวัคซีน จึงต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดก่อนที่จะนำไปใช้จริง โครงการนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมแล้ว โครงการนี้จึงจะขอรับสมัครอาสาสมัครมารับวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ต่างชนิดกัน
โดยกลุ่มแรกจะฉีดเข็มที่ 1 เป็น Sinovac เข็มที่ 2 เป็น AstraZeneca และอีกกลุ่มจะฉีดเข็มที่ 1 เป็น AstraZeneca เข็มที่ 2 เป็น Sinovac และจะมีการบันทึกอาการข้างเคียงของวัคซีนและตรวจวัดภูมิต้านทานเป็นระยะ เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิชาการก่อนนำไปใช้จริง โครงการนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมแล้ว
ข่าวเกี่ยวข้อง :