รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า(อินเดีย) ดื้อต่อทั้งวัคซีน Sinovac ,AstraZeneca และ Pfizer เมื่อศึกษาในห้องปฏิบัติการ
นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ธันวาคม 2562 จนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลาหนึ่งปีหกเดือนแล้วนั้น วัคซีนดูจะเป็นความหวัง และเป็นคำตอบสำคัญ ที่จะช่วยคุมการระบาดของโควิดเอาไว้ได้
แต่ในขณะที่วัคซีน กำลังมีการพัฒนาที่ก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ และมีการพัฒนาจนนำมาฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน(EUA) ได้มากกว่า 10 ชนิดตลอดจนปัจจุบันได้มีการฉีดไปแล้วกว่า 2,000 ล้านเข็มทั่วโลกนั้น ก็เกิดมีเหตุการณ์ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ ที่ทำให้ความหวังที่สดใสเรื่องวัคซีน ดูจะหมองลงไปมากทีเดียว
โดยไวรัสสายพันธุ์ใหม่ล่าสุด ที่เป็นประเด็นปัญหาคือ ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า(Delta)หรืออินเดียเดิม ซึ่งขณะนี้ได้ระบาดครอบคลุมกว่า 90% ของประเทศอังกฤษ รวมทั้งเริ่มระบาดประมาณ 1 ใน 10 ของผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกา ยังไม่นับรวมในประเทศอินเดียเองด้วย จึงทำให้ผู้คนสงสัยว่า วัคซีนตัวหลักๆของโลก จะมีประสิทธิผลลดลงเมื่อเจอไวรัสเดลต้า มากน้อยเพียงใด
กล่าวเฉพาะวัคซีนสามตัวหลัก ซึ่งของไทยมีใช้แล้วสองตัว ส่วนอีกหนึ่งตัวเซ็นสัญญาแล้ว ได้แก่ วัคซีน Sinovac ของจีน AstraZeneca ของอังกฤษ และ Pfizer ของสหรัฐอเมริกา มีงานวิจัยจาก สวทช. ศูนย์วิจัยของจุฬาฯ และงานวิจัยต่างประเทศ สรุปได้ดังนี้
ระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน Sinovac 2 เข็ม ในกรณีที่เป็นวัคซีนของ Sinovac ฉีดครบสองเข็มแล้วเป็นเวลา 1 เดือน พบว่าภูมิคุ้มกันที่อยู่ในเลือดของผู้รับวัคซีน ที่จะต่อสู้กับไวรัสเดลต้าได้นั้นมีผลกระทบถึง 4.9 เท่า เมื่อเทียบกับสายพันธุ์หลัก (37.14 / 7.58)
ส่วนวัคซีนของ AstraZeneca มีผล กระทบ 4.3 เท่า (306 / 71) ระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีด AstraZeneca สองเข็ม
ในขณะที่วัคซีนของ Pfizer มีผลกระทบ 2.5 เท่า (1105 / 442)ระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีด Pfizer สองเข็ม
นอกจากนั้นเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เบต้าหรือแอฟริกาใต้เดิม
วัคซีน AstraZeneca ลดลงถึง 9 เท่าในขณะที่ Pfizer ลดลงมากถึง 7.5 เท่า
จึงทำให้พอจะสรุปในเบื้องต้นได้ว่าไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ที่ดื้อต่อวัคซีนสูงสุดในขณะนี้คือ สายพันธุ์เบต้า(แอฟริกาใต้) ตามด้วยสายพันธุ์เดลต้า ส่วนสายพันธุ์อัลฟ่าหรืออังกฤษเดิม ยังไม่ดื้อต่อวัคซีนมากนัก
เราจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง (Second Generation) เพื่อรองรับไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าว
ซึ่งประเทศใดที่ยังไม่มีไวรัสกลายพันธุ์ ก็ต้องเร่งควบคุมป้องกันให้เต็มที่ แล้วเร่งฉีดวัคซีนที่ป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดิมและสายพันธุ์อัลฟ่าให้ได้มากที่สุด ก่อนที่จะมีไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ เข้ามาระบาดในประเทศ ถึงตอนนั้น ก็จะต้องเตรียมวัคซีนรุ่นที่สองให้มีมากพอ ที่จะฉีดป้องกันต่อไป
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 28 ก.พ. - 18 มิ.ย. 2564 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มียอดการฉีดสะสมไปแล้วจำนวน 7,483,083 โดส ใน 77 จังหวัด
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม 5,434,119 ราย (จำนวนผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด)
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 2,048,964 ราย (จำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์)
ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 64 รวม 3,382,562 โดส
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม 2,663,872 ราย
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม 718,690 ราย
สำหรับประเทศไทยมีวัคซีนหลักอยู่ 2 ยี่ห้อ ได้แก่ ซิโนแวค และเอสตร้าเซนเนก้า ในปัจจุบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :