รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความ ว่า
ต้องกลืนน้ำลายตัวเองเป็นครั้งที่เท่าไรแล้วไม่รู้ ขอถอนคำพูดที่ว่าสิ้นเดือนนี้สถานการณ์โควิดโดยรวมจะดีขึ้น และขอถอนคำพูดที่ว่าสิ้นเดือนนี้ยอดผู้เสียชีวิตรายวันจะเหลือเป็นเลขหลักเดียว ขอแสดงตัวอย่างเผื่อใครหากอยากจะเป็นผู้นำทางความคิด ต้องรู้จักรับผิดและรู้จักขอโทษ ยิ่งถ้าเป็นผู้นำที่อยากลงเวทีแบบให้คนกล่าวขวัญถึงในทางดี ยิ่งต้องฝึกปฏิบัติข้างต้นอยู่เป็นนิจ ไม่เป็นน้ำชาล้นถ้วย
พรุ่งนี้จะเป็นการสอบเพื่อจบสำหรับแพทย์ฝึกฝนเป็นผู้เชี่ยวชาญโรคปอดนานสองปี รุ่นนี้เป็นรุ่นพิเศษเพราะอยู่กับสถานการณ์โควิดมาตลอดปีครึ่ง ผลคือการฝึกอบรมด้านอื่นๆ ถดถอย ผลกระทบเช่นนี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับผู้ป่วยอื่นที่ไม่ไช่โควิด เพราะการดูแลรักษาทางการแพทย์ถูกปรับเปลี่ยนไม่เป็นไปมาตรฐานเดิมก่อนโควิดระบาด
อยากจะออกข้อสอบพรุ่งนี้ให้พวกเขา 27 ชีวิตสักข้อหนึ่ง แต่เกรงว่าจะไม่มีใครตอบถูก
คำถาม: วิธีการการยุติปัญหาผู้ป่วยโควิดวิกฤตที่ล้นเกินศักยภาพภาคการแพทย์ในเขตกทม.และปริมณฑลในปัจจุบัน ที่ดีที่สุด คือ
ตัวเลือก:
1. ล็อคดาวน์ประเทศ
2. ขยายเตียงไอซียูโควิดเพิ่ม
3. เกณฑ์แพทย์และพยาบาลจากต่างจังหวัดมาช่วยงานไอซียูโควิด
4. เร่งฉีดวัคซีนโควิดในเขตกทม.และปริมณฑล
5. กลับมาทบทวนระบบการรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้กันใหม่อีกครั้ง
คำอธิบายประกอบ:
ข้อ 1. ควรคิดตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ปีนี้
ข้อ 2. ถ้าใครเลือกก็ไม่ควรให้จบ ต้องมาช่วยทำงานนี้ต่อ คนที่ทำหน้าที่นี้กันอยู่ในปัจจุบันจะไม่ไหวแล้ว
ข้อ 3. แล้วงานดูแลผู้ป่วยวิกฤตทั้งโควิดและไม่ใช่โควิดในต่างจังหวัดจะเป็นอย่างไร
ข้อ 4. กว่าจะเห็นผลไม่ต่ำกว่าหนึ่งเดือน จะรอกันไหวหรือ
ข้อ 5. แล้วใครจะเป็นคนเริ่ม
ดูตัวเลขผู้ป่วยอาการรุนแรง ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิต ที่กลับเพิ่มขึ้นมาใหม่เหมือนปรับฐานหลังจากดีดลงทางเทคนิคแล้วมาทรงตัวแบบไม่เพิ่มไม่ลด ผมตอบกับลูกศิษย์ที่ออกไปเยี่ยมและรับปรึกษาทั่วไทยไม่ได้ว่า เมื่อไรเขาจะกลับไปทำหน้าที่แพทย์ดูแลรักษาผู้ป่วยได้ตามปกติ ไม่เหมือนการบอกได้แน่นอนว่าทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยเฉพาะกิจจะรั้งตำแหน่งบ๊วยในแมตช์สุดท้ายวันนี้ ถึงขณะนี้จะชนะอิตาลีไปหนึ่งเซตแบบสุดมัน พวกเธอสู้ขาดใจแม้เป้าหมายจะถูกกำหนดมาแล้ว ไม่ต่างกับบุคลากรในเสื้อกาวน์และชุดขาวที่กำลังรับศึกหนักอยู่ในขณะนี้ โดยไม่ต้องพูดถึงการเปิดประเทศในอีก 120 วันข้างหน้า
#เซฟบุคลากรทางการแพทย์
สำหรับประเด็นดังกล่าวนั้น เกิดจากก่อนหน้านี้ "หมอนิธิพัฒน์" ได้เคยโพสเฟซบุ๊กยืนยันคำพูดดังกล่าว 2 ครั้ง โดยมีข้อความส่วนหนึ่งที่ระบุว่า หลายคนถามเข้ามาว่าจะเห็นตัวเลขเสียชีวิตเป็นเลขหลักเดียวในสิ้นเดือนนี้จริงหรือ ส่วนตัวยังคิดว่ามีทางเป็นได้ เพราะถ้าดูข้อมูลผู้ป่วยที่ยังใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ค่อยๆ ลดลงช้าๆ แล้ว ที่สำคัญผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ขณะนี้มีที่ใส่น้อยกว่า 7 วันอยู่เพียง 20% นั่นหมายความว่าการเติมผู้ป่วยวิกฤตเข้ามาในระบบลดลงพอควร สอดคล้องกับสัดส่วนผู้ป่วยใหม่ขณะนี้ที่มีอายุเฉลี่ยน้อยลง ซึ่งหมายถึงมีความรุนแรงของโรคและอัตราการเสียชีวิตลดลงตามไปด้วย
อีกครั้งหนึ่ง "หมอนิธิพัฒน์" ก็ยังคงยืนยันคำพูดเดิม โดยระบุว่า ช่วงนี้ต้องคอยตอบคำถามผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารสถานการณ์โควิดอยู่เนืองๆ ว่า เมื่อไรตัวเลขยอดผู้เสียชีวิตรายวันจะลดลงเป็นเลขหลักเดียวเสียที ได้ยืนยันไปว่าคงต้องรออีกอย่างน้อยสองสัปดาห์ เพราะตัวเลขผู้ป่วยอาการรุนแรงและผู้ป่วยต้องใส่เครื่องช่วยหายใจค่อยๆ ลดลงมาเกือบสัปดาห์แล้ว โดยข้อแม้คือต้องไม่มีการระบาดระลอกสามครึ่งหรือระลอกสี่ หรือเชื้อสายพันธุ์อินเดียที่เริ่มแพร่หลายไม่แผลงฤทธิ์ความรุนแรงให้เห็น
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ของประเทศไทยวันที่ 21 มิถุนายน 2564 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 3,175 ราย
สะสมระลอกที่สาม 192,443 ราย
สะสมทั้งหมด 221,306 ราย
รักษาหาย 2,030 ราย
สะสม 158,363 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 29 ราย
สะสมระลอกที่สาม 1,564 ราย
สะสมทั้งหมด 1,658 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :