"AstraZeneca" 2 เข็มห่าง 8-12 หรือ 16 สัปดาห์ "หมอเฉลิมชัย" ชี้รัฐบาลต้องชั่งใจให้หนัก

22 มิ.ย. 2564 | 07:50 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2564 | 04:13 น.

หมอเฉลิมชัยเผยรัฐบาลต้องชั่งใจให้ดีสำหรับการฉีดวัคซีน AstraZeneca2 เข็มห่าง 8-12 หรือ 16 สัปดาห์ แบบไหนได้ประโยชน์มากกว่ากับการป้องกันโควิดสายพันธุ์อินเดีย

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
    วัคซีน AstraZeneca หนึ่งเข็ม จะพอป้องกันไวรัสเดลต้าได้หรือไม่ ต้องเปลี่ยนแผนการฉีดเข็มสองให้เร็วขึ้นกว่าเดิมหรือไม่
    เป็นคำถามที่คนไทยทั่วไป ต่างตั้งคำถามสงสัยกันอยู่ในช่วงนี้
    ระดับภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดวัคซีน AstraZeneca หนึ่งเข็ม ซึ่งสูงกว่าฉีดวัคซีน Sinovac หนึ่งเข็ม และใกล้เคียงกับระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดในผู้ติดโควิดตามธรรมชาติและหายดีแล้วนั้น ทำให้หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย สามารถขยับการฉีดเข็มสองของวัคซีน AstraZeneca ออกไปเป็น 12-16 สัปดาห์ได้ แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดมีไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ซึ่งแม้จะเกิดมาหลายเดือนแล้ว แต่เพิ่งจะมาระบาดอย่างหนัก จนเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศอังกฤษ และได้แพร่ไปกว่า 80 ประเทศทั่วโลก
    จึงเกิดคำถามว่า วัคซีน AstraZeneca หนึ่งเข็ม จะสามารถรองรับไวรัสสายพันธุ์เดลต้าได้หรือไม่ คำตอบนี้ต้องใช้ความรู้ทางวิชาการ  ร่วมกับการเก็บข้อมูลจริง โดยพบว่าไวรัสสายพันธุ์เดลต้า นอกจากจะมีความสามารถในการแพร่ระบาดได้สูงกว่าไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) แล้ว ยังดื้อหรือกระทบต่อประสิทธิผลของวัคซีนด้วย
    โดยข้อมูลแรกมาจากวารสารการแพทย์ชื่อดัง (Lancet) พบว่าระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีน Pfizer 2 เข็ม และสามารถทำลายไวรัสเดลต้าได้ (NAb) จะมีผลกระทบเป็นหกเท่า เมื่อเทียบกับไวรัสสายพันธุ์หลักเดิม และกระทบต่อสายพันธุ์อัลฟ่า 2.6 เท่า
    กล่าวโดยง่ายคือ ไวรัสเดลต้า ทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มลดลง
    เช่นเดียวกับรายงานการศึกษาของสถาบันปาสเตอร์ของฝรั่งเศส ก็พบข้อมูลในทำนองเดียวกันว่า ระดับภูมิคุ้มกันแบบทำลายไวรัส (NAb) ของการฉีดวัคซีน Pfizer สองเข็ม เมื่อเปรียบเทียบระหว่างสายพันธุ์อัลฟ่ากับเดลต้า พบว่าเดลต้าดื้อมากกว่า 3-6 เท่า
    อย่างไรก็ตาม จำเป็นที่จะต้องดูเรื่องความสามารถของเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T-cell) ที่เกิดจากการกระตุ้นของวัคซีนด้วยว่า มีส่วนช่วยป้องกันมากน้อยเพียงใด
    สุดท้ายจึงต้องไปดูในโลกแห่งความเป็นจริง (Real World) หรือประสิทธิผล (Effectiveness) ในการป้องกัน ซึ่งมีข้อมูลดังนี้
    ในกรณีที่ฉีดเข็มเดียว ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการเล็กน้อย
    AstraZeneca เหลือ 18% 
    Pfizer เหลือ 33%

แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มห่าง 8-12 สัปดาห์ หรือ 16 สัปดาห์
    แต่สามารถป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการมากที่ต้องนอนโรงพยาบาลได้ดีคือ
    AstraZeneca มีประสิทธิผล 71% 
    Pfizer มีประสิทธิผล 94%
    สรุปคือ
    ฉีดวัคซีนเข็มเดียวไม่เพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการเล็กน้อย แต่ยังคงเพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อแบบนอนโรงพยาบาลได้
    ส่วนในการฉีดวัคซีนสองเข็ม พบว่าในกรณีติดเชื้อแบบมีอาการเล็กน้อย
    AstraZeneca ประสิทธิผล 60% Pfizer ประสิทธิผล 88%
    ในขณะที่การป้องกันแบบติดเชื้อต้องเข้านอนโรงพยาบาล
    AstraZeneca ประสิทธิผล 92% 
    Pfizer ประสิทธิผล 96%
    จากข้อมูลดังกล่าว และอีกจากหลายแหล่งการศึกษาทั่วโลก ชี้แนวโน้มไปในแนวทางเดียวกันว่า
    การฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นของ AstraZeneca หรือของ Pfizer เพียงเข็มเดียว จะป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการเล็กน้อยได้ไม่ดี แต่ป้องกันการติดเชื้อแบบนอนโรงพยาบาลได้พอสมควร
    ส่วนการฉีดสองเข็ม ยังสามารถป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการเล็กน้อย และการติดเชื้อแบบนอนโรงพยาบาลได้ดี
    จึงเริ่มมีคำแนะนำว่า ควรเร่งฉีดวัคซีนให้ได้สองเข็ม สำหรับประเทศที่มีไวรัสเดลต้าระบาดแล้ว
    กล่าวเฉพาะประเทศไทยเรา ขณะนี้ไวรัสหลักคือ สายพันธุ์อัลฟ่า ซึ่ง วัคซีน AstraZeneca เข็มเดียวยังคงคุมอาการได้ดี แต่การที่ประเทศเพื่อนบ้านพบไวรัสสายพันธุ์เดลต้า และเริ่มเล็ดลอดเข้ามาในประเทศไทยบ้างบางส่วนแล้วนั้น ทำให้คาดการณ์ได้ว่า โอกาสที่ประเทศไทยจะมีไวรัสสายพันธุ์เดลต้า กลายเป็นสายพันธุ์หลักในระยะเวลาอีกไม่นานนัก มีความเป็นไปได้สูง จึงควรพิจารณาเรื่องการเร่งฉีดวัคซีนเข็มสองของ AstraZeneca ให้ได้จำนวนมากขึ้น
    ซึ่งนโยบายนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องชั่งใจอย่างหนัก ระหว่างการฉีดเข็มหนึ่งให้ได้มากที่สุดก่อน แล้วนัดเข็มสองที่ 16 สัปดาห์ หรือยอมตัดใจฉีดเข็มหนึ่งได้จำนวนน้อยลง แล้วนำวัคซีนมาฉีดเข็มสองเร็วขึ้น ที่ระยะเวลา 8-12 สัปดาห์ เพื่อรองรับการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า เพราะถ้าไวรัสสายพันธุ์เดลต้าเข้ามาระบาดช้า การฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งกับเข็มสองห่างกัน 16 สัปดาห์ ก็จะเป็นประโยชน์มากกว่า
    แต่ถ้าไวรัสเดลต้าเข้ามาระบาดในประเทศไทยเร็ว การฉีดวัคซีน AstraZeneca สองเข็ม ห่างกัน 8-12 สัปดาห์ ก็จะเป็นประโยชน์มากกว่า
    จึงบอกยากว่า การร่นระยะเวลาฉีดเข็มสองห่างจากเข็มหนึ่งให้ใกล้เข้ามา หรือจะคงระยะยาวไว้เหมือนเดิม จะดีกว่ากัน ขึ้นอยู่กับไวรัสสายพันธุ์เดลต้า จะเข้ามาระบาดในประเทศไทยเร็วหรือช้า     ซึ่งไม่มีใครรู้ความจริงเรื่องนี้ได้ นอกจากเดาหรือคาดคะเนเอาครับ

ข้อมูลการฉีดวัคซีนในประเทศไทย
    ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยชนิด แอสตร้าเซนเนก้า จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า วันที่ 21 มิถุนายนมีการฉีดเข็มแรก 125,890 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 1,853 ราย 
    ขณะที่ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-21 มิ.ย. 64 มีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 1 สะสมจำนวน 2,304,890 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 50,915 ราย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :