รายงานพิเศษ : เปิดแผนบริหาร "วัคซีนโควิด" มติศบค. ตอบกลับ ผู้ตรวจการแผ่นดิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 22 มิ.ย. 64 มีมติรับทราบ "สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) หรือ ศบค. ครั้งที่ 8/2564" เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน 2564
หนึ่งในรายงานสรุปที่มีการรายงานต่อครม. คือ "คำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564" ซึ่งประธานผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศบค.แจ้งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 และเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ ดังนี้ (อ่านรายละเอียด )
1) รัฐโดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพให้ครอบคลุมทั่วถึงและทันเวลาต่อการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของประชาชนและกลุ่มเสี่ยง เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน
2) รัฐโดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ควรกำหนดมาตรการและแนวทางในการให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาและกระจายวัคซีนทางเลือกในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
3) รัฐโดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้เกิดความชัดเจน ไม่ก่อให้เกิดความสับสนในการเข้ารับการฉีดวัคซีน รวมถึงกำหนดและเร่งประชาสัมพันธ์มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลข้างเคียงหรือมีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน ว่ามีหลักเกณฑ์และแนวทางในการช่วยเหลือและเยียวยาอย่างไร อันเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการเข้ารับการฉีดวัคซีน
4) นอกจากบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าและประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เสี่ยงแล้ว รัฐควรสนับสนุนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในเชิงรุกให้แก่กลุ่มคนซึ่งขาดศักยภาพในการเข้าถึงบริการหรือข่าวสารของรัฐในเรื่องการเข้ารับการฉีดวัคซีน เช่น กลุ่มคนที่มีความจำเพาะด้านสุขภาพ อาทิ
คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุ กลุ่มคนด้อยโอกาสทางสังคม อาทิ คนยากจน บุคคลเร่ร่อน หรือผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน โดยจัดให้มีบริการเข้าไปฉีดวัคซีนยังสถานที่ที่กลุ่มคนเหล่านั้นอยู่อาศัยอย่างทั่วถึงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
จากนั้น ศบค. ได้รายงานผลการดำเนินงานตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า ศบค.ได้มีประกาศ เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ประกาศ ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2564 เพื่อเป็นการเร่งรัดให้การขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ตามวาระแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ และประชาชนได้รับประโยชน์โดยเร็ว โดยกำหนดแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน ดังนี้
1) ให้มีการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ที่มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอแก่ประชาชนโดยอย่างน้อยให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร (ไม่น้อยกว่าจำนวนประชากรห้าสิบล้านคน)
2) ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประสานงาน ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ในการดำเนินการขึ้นทะเบียนวัคซีนให้เป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ
3) ให้กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์ หรือสาธารณสุขแก่ประชาชน ร่วมมือกันในการดำเนินการจัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึงภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง หรือตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานนั้น ๆ กำหนด
4) เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ได้มากขึ้นสถานพยาบาลเอกชนและภาคเอกชนอาจจัดหาหรือขอรับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 จากหน่วยงานตามข้อ 3 ภายใต้กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาให้บริการประชาชนหรือบุคลากรในความดูแลได้ตามความเหมาะสม โดยวัคซีนดังกล่าวต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยา และต้องพิจารณากำหนดราคาวัคซีนและการให้บริการที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
5) โดยที่ในปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ที่ผลิตหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ยังมีจำนวนจำกัด หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 มาให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ ให้จัดหาจากหน่วยงานตามข้อ 3 และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักเกณฑ์ หรือแผนการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและต้องสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 หรือนายกรัฐมนตรีกำหนด
การดำเนินการตามวรรคหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ให้เป็นไปตามแนวทางหรืออยู่ในการกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดหาวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพด้านงบประมาณและรายได้ ที่แตกต่างกัน และเพื่อให้การกระจายวัคซีนในห้วงเวลาวิกฤตมีความเป็นธรรมมากที่สุด
ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนและให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในพื้นที่ในการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวมของประเทศ
6) ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วนเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลกับระบบแพลตฟอร์มหมอพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชน ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 และเพื่อให้การบริหารจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ
ซึ่งที่ประชุมศบค.มีมติ ดังนี้
1) รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและดำเนินงานตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินมาอย่างต่อเนื่อง
2) มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรุงเทพมหานคร รายงานผลดำเนินการตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ที่ประชุม ศบค. ทราบด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง