รายงานข่าวระบุว่า นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า
ผู้ป่วยโรคโควิด-19 บางราย ถึงแม้จะได้รับการวินิจฉัยเร็ว เริ่มยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ชนิดกิน หรือยาเรมเดสซีเวียร์ชนิดฉีดทันที แต่โรคยังดำเนินต่อไป ปอดอักเสบเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดระบบหายใจล้มเหลว ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และในที่สุดเสียชีวิต ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะยาต้านไวรัสที่มีในปัจจุบัน มีประสิทธิภาพต่ำเหมือนกับยาต้านไวรัสเอชไอวีรุ่นแรกๆที่ใช้รักษาโรคเอดส์เมื่อ 30 กว่าปีก่อน
เราอยากได้ยาต้านไวรัสโควิด-19 รุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง ครอบคลุมได้ทุกสายพันธุ์ เมื่อตรวจพบยืนยันเป็นโรคโควิด-19 เริ่มให้กินยาทันที ทำให้ไข้ลดลงและอาการต่างๆดีขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่เสียชีวิต นอกจากนี้ยังสามารถลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสให้กับผู้อื่น
ประเทศสหรัฐอเมริกาประสบผลสำเร็จในการคิดค้นและผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงโดยลงทุน 18,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ขณะนี้สหรัฐฯกำลังลงทุนเพิ่มอีก 3 พันล้านดอลลาร์เพื่อค้นคว้าและผลิตยาต้านไวรัสโควิด-19 คาดว่าน่าจะมียาใหม่ออกมาให้ใช้ในปลายปีนี้
ขณะนี้มียาต้านไวรัส 3 ตัวคือยา Molnupiravir ของบริษัทเมอร์ค ยา AT-527 ของบริษัทโรช และยา PF-07321332 ของบริษัทไฟเซอร์ กำลังอยู่ในขั้นทดลอง ถ้าผลการทดลองระยะ 3 ออกมาเป็นที่น่าพอใจ ยาใหม่นำไปใช้ได้ผล จะสามารถลดอัตราการนอนรักษาในโรงพยาบาล ลดจำนวนคนเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้ทั่วโลก
ระหว่างที่รอยาต้านไวรัสรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ขอให้ทุกคนรีบลงทะเบียน จองคิวฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยเร็ว อย่าลังเล อย่ากลัววัคซีน โรคโควิด-19 เป็นโรคที่น่ากลัวจริงๆตราบใดที่ยังไม่มียาต้านไวรัสตัวใหม่
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-21 มิ.ย. 64 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีการฉีดสะสมไปแล้ว 7,906,696 โดส ประกอบด้วย เข็มที่ 1 จำนวน 5,678,848 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 2,227,848 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :