thansettakij
"กัญชา"รักษาโควิด "หมอธีระวัฒน์" ชี้ช่วยลดปอดอักเสบชัดเจน

"กัญชา"รักษาโควิด "หมอธีระวัฒน์" ชี้ช่วยลดปอดอักเสบชัดเจน

28 มิ.ย. 2564 | 01:20 น.

หมอธีระวัฒน์ยังหนุนใช้"กัญชา"รักษาโควิด ชี้ช่วยลดปอดอักเสบชัดเจน ระบุคนไทยใช้ขนาดเจือจางอยู่แล้วมีความปลอดภัยสูง

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha) โดยมีข้อความว่า 
    ฤา คนไทยต้องรอให้ฝรั่งสั่งก่อนว่า ให้ใช้อะไร หรืออันนี้ไม่ให้ใช้ในโควิด …เพราะมันคงถูกไป?
    การใช้ยาถูกๆ และสมุนไพรเหล่านี้ "ไม่ใช่ ใช้เป็นตัวเดี่ยวๆ"  ไม่สนใจยาปกติ ไม่ใช้เป็น stand alone drug และใช้ในเวลาตั้งแต่ตัน ไม่ใช่อะไรไม่ได้ผลแล้วมาใช้ 
    การอักเสบของโควิดเป็น autoinflammatory ซึ่งเป็น innate เกิด cytokine storm 
    การศึกษาโดยเฉพาะจากประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวยนัก เช่น ประเทศกรีซ รายงานการใช้ยารักษาปวดข้อเกาต์ colchicine ขนาดน้อยมาก ก็สามารถที่จะลดการอักเสบได้อย่างน่าพอใจ ถ้าเริ่มให้ตั้งแต่ระยะแรกที่เกิดมีการอักเสบ 
    เช่นเดียวกับยารักษามาลาเรีย hydroxy chloroquine โดยใช้ขนาดยาน้อยมาก ไม่มีผลข้างเคียงทางหัวใจ ใช้ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นที่มีการจุดชนวนการอักเสบขึ้น 
    ยาฆ่าพยาธิ ivermectin เป็นอีกตัวที่มีรายงานทยอยออกมาตั้งแต่ปีที่แล้วจนปัจจุบัน ถ้าให้ตั้งแต่เริ่มติดเชื้อ
    แล้วประเทศไทย เราจะหันหลังให้กับสมุนไพร เช่นนั้นหรือ?
    ตั้งแต่กัญชง กัญชา ที่มีคุณสมบัติลดการอักเสบอย่างชัดเจน และมีรายงานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน ช่วยลดความทรมาน ช่วยให้สบายขึ้น และคนไทยเองก็ใช้ขนาดเจือจางมีความปลอดภัยสูง เช่นน้ำมันกัญชาของอาจารย์เดชา 3%  มาเป็นหลายหมื่นคนแล้ว ในภาวะต่างๆ เช่นเดียวกับ ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว ที่ไม่ต้องสกัดเป็นสารเดี่ยวด้วยซ้ำ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
    อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ "หมอธีระวัฒน์" ได้เคยออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้กัญชารักษาโควิดมาแล้ว โดยระบุว่า
    การใช้กัญชารักษาโรคโควิด-19 (Covid-19) นั้น มีผลงานวิจัยรับรองจากทั้งในประเทศ  และต่างประเทศ โดยในประเทศไทยนั้น หมอธีระวัฒน์ เคยออกมาระบุก่อนหน้านี้ว่า
        พบข้อเท็จจริงในการใช้พืช กัญชาและกันชงรวมถึงสารออกฤทธิ์ในกัญชาที่เรียกว่า "เธอปีน" ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ โดยบอกว่า ข้อมูลดังกล่าว มาจากคณะผู้วิจัยหลายแห่งตั้งเป้าในการลดการอักเสบอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นใน โควิด-19 และเป็นต้นตอให้เกิดปอดเสียหายอย่างรุนแรงและตามมาด้วยการเกิดเยื่อพังผืดและทำให้ปอดเสียหายถาวร แม้ว่าจะกำจัดไวรัสตายหมดแล้ว ซึ่งการศึกษาในหนูที่ติดเชื้อ โควิด-19 รักษาโดยการให้สารที่กระตุ้นการสร้าง interferon หรือให้กัญชง CBD เมื่อเทียบกับไม่ให้อะไรเลย พบว่ากลุ่มที่ให้ CBD มีอาการดีกว่าและปอดถูกทำลาย น้อยกว่า รวมทั้งการอักเสบจะลดลง และดูว่าจะสัมพันธ์กับระดับของ apelin ที่เพิ่มขึ้น
        ขณะที่ผู้วิจัยอีกคณะ ได้ทดสอบโดยใช้สารออกฤทธิ์ THC ในรูปแบบการทดลองที่ทำให้เกิดสภาพปอดเสียหายในระดับวิกฤต ARDS จาก การได้รับ Staphylococcal Enterotoxin B Exposure ดังนั้น เนื่องจากพยาธิสภาพ มีลักษณะคล้ายกันกับที่พบใน โควิด-19 ที่มีมรสุมภูมิวิกฤติ cytokine storm ดังนั้นจึงมีทางเป็นไปได้ในการใช้กัญชาในการลดการอักเสบที่จะนำไปสู่ความเสียหายรวมทั้งการเกิดเยื่อพังผืดในเนื้อปอด 

        ด้านวารสารไลฟ์ (Life) ได้เผยแพร่ผลการวิจัยซึ่งเป็นการประเมินเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือฤทธิ์ของสารเทอร์พีน (Terpene) และสารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) หรือ ซีบีดี ในกัญชาที่มีต่อเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 สายพันธุ์ที่ติดเชี้อในมนุษย์จากการวิจัยในหลอดทดลอง
        การวิจัยดังกล่าวได้ศึกษาถึงประสิทธิภาพในการต้านไวรัสของสารเทอร์พีนซึ่งเป็นสารประกอบตามธรรมชาติที่พบในพืชหลายชนิดรวมถึงในกัญชา โดยบริษัทเอบนา( Eybna) ของอิสราเอลซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีเกี่ยวกับกัญชาได้พัฒนาสูตรที่เรียกว่า NT-VRL โดยเป็นการรวมสารเทอร์พีน 30 ชนิดเข้าด้วยกันซึ่งรวมถึงเบต้า-แคริโอฟิลลีน (Beta-caryophyllene), ยูคาลิปตอล (Eucalyptol) และซิตรัล (Citral)
        สารเทอร์พีนได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการรักษาการติดเชื้อไวรัสที่หลากหลายจากการศึกษาในหลอดทดลอง และงานวิจัยที่เผยแพร่โดยเอบนาเมื่อปีที่แล้วพบว่า การใช้ NT-VRL ร่วมกับสารซีบีดี ซึ่งพบในกัญชาด้วยนั้น มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการอักเสบที่รุนแรงที่พบในผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวนมาก
        เอบนา และ ฟาร์มาซีด (Pharmaseed )ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยของอิสราเอลเช่นกันนั้น ได้ทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อประเมินคุณสมบัติในการต้านไวรัสของ NT-VRL ทั้งแบบที่ใช้และไม่ใช้สารซีบีดี ร่วมด้วยในการต้านทานเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ HCoV-229E ที่มีการติดเชื้อในมนุษย์
        อย่างไรก็ดี แม้ว่าสายพันธุ์ HCoV-229E จะไม่ใช่สายพันธุ์ของโคโรนาไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 (SARS-CoV-2) แต่สายพันธุ์ HCoV-229E ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่านี้ ก็มีความสัมพันธ์กับอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจต่างๆ ตั้งแต่โรคไข้หวัดธรรมดาไปจนถึงโรคปอดอักเสบที่รุนแรง จึงนับได้ว่าผลการวิจัยเบื้องต้นดังกล่าวนี้เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีสำหรับการป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :