จากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2568 หนึ่งในประเด็นสำคัญทั่วโลกจับตามองการขับเคลื่อนในการลดโลกร้อน และการทำธุรกิจเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม (Go Green) ของประเทศต่าง ๆ จะสะดุดลงหรือไม่ เนื่องจากทรัมป์ไม่เชื่อเรื่องลดโลกร้อน และยังสนับสนุนการใช้พลังงานจากฟอสซิล
ต่อประเด็นดังกล่าว รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ไม่ส่งเสริมธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม แต่คงไม่มีผลต่อทั้งธุรกิจของสหรัฐ และโลกมากนัก จากเหตุผล 4 ประการคือ
1.แรงกดดันจากนักลงทุนทั่วโลก สนับสนุนและลงทุนเพื่อธุรกิจแบบ ESG (Environmental, Social, Governance) มากขึ้น โครงการ Go Green ต่าง ๆ ในปี 2025 (2568) คาดว่าจะมีการดำเนินการต่อไป รวมถึงความตื่นตัวจากผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสินค้าจากบริษัทที่มีแนวทาง ESG และสนับสนุนการปกป้องสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ ต้องปรับตัวเพื่อดึงดูดลูกค้า
2.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ทั้งนํ้าท่วม ภัยแล้ง ภัยพิบัติ 3.มีการลงทุนการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน เช่น พลังงานทดแทน ยานยนต์ไฟฟ้าหรือเทคโนโลยีการจัดเก็บพลังงานจะยังคงได้รับการสนับสนุนและการลงทุนจากบริษัทและรัฐบาลทั่วโลก บริษัทในสหรัฐฯ เช่น Google, Microsoft, และ Tesla ยังคงลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดและการปรับลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตในอนาคต
4.การบังคับใช้มาตรการสิ่งแวดล้อมในยุโรปและเอเชีย ที่ยังดำเนินการต่อไป แม้ว่าทรัมป์เข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ตาม เพราะจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าหากไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดีมีข้อแนะนำภาครัฐและเอกชนไทย ในการสนับสนุน และลงทุนเพื่อ Go Green เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศ ดังนี้ 1.ปรับแผนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้เร็วขึ้นกว่ากำหนดในปี 2065 (พ.ศ.2608) เป็นปี 2050 (พ.ศ. 2593) หรือเร็วขึ้น 15 ปี เพื่อให้มีกรอบระยะเวลาเดียวกับกับนานาประเทศ เช่น เวียดนาม เพื่อดึงดูดนักลงทุนที่คำนึงสิ่งแวดล้อมเข้ามาลงทุนในไทย
2.เร่งดำเนินการคำนวณก๊าซเรือนกระจก(GHG) ของกิจกรรมการผลิตของไทยรายสินค้าและอุตสาหกรรมที่สามารถให้ภาคเอกชนไปอ้างอิงได้ 3.ตั้งหน่วยงานที่ยอมรับและน่าเชื่อถือ เพื่อรับรองการลด GHG ของธุรกิจที่สอดคล้องกับมาตรฐานของประเทศที่พัฒนาแล้ว 4.รัฐต้องสร้างแรงจูงใจและสิทธิประโยชน์เพื่อให้ภาคเอกชนและเกษตรกรรมหันมาปรับตัวเพื่อรองรับเทรนด์สิ่งแวดล้อม
5.สร้างตลาดซื้อขายพลังงานสะอาดเสรี ที่ผู้ซื้อและขายสามารถตกลงราคากันเองได้อิสระ 6.สร้างต้นแบบธุรกิจ GO Green ในพื้นที่ เพื่อสร้างเชื่อมข่ายในชุมชนในเพิ่มขึ้น และ 7.จัดทำตลาด Go Green ของสินค้าที่ราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไป โดยร่วมกับกลุ่มบริษัทค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศ และเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตหันมาทำธุรกิจแบบ Go Green
“นักลงทุนไทยและโลกยังให้ความสำคัญกับการลงทุน Go Green มากขึ้น ขณะที่สถาบันการเงินทั้งไทยและโลกให้สิทธิดอกเบี้ยตํ่าและอื่น ๆ เมื่อบริษัทได้คะแนน ESG สูง ซึ่งก็จะจูงใจให้บริษัทหันมาดำเนินธุรกิจแบบ ESG มากยิ่งขึ้น จากมีสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน”
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,060 วันที่ 9 - 11 มกราคม พ.ศ. 2568