ปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ลุ้นมูลค่าการส่งออกของไทย(รูปดอลลาร์สหรัฐ)จะขยายตัวได้ 5% หลังจากช่วง 11 เดือนแรกตัวเลขขยายตัว 5.1% จากต้นปี 2567 ตั้งเป้าไว้จะขยายตัวได้เพียง 1-2% ขณะที่ทิศทางการส่งออกไทยปี 2568 ทุกฝ่ายมองยังมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้ามากมาย ทั้งจากปัจจัยภายในและนอกประเทศ ซึ่งในเบื้องต้นจากการหารือของกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชน คาดการส่งออกไทยปี 2568 จะขยายตัวได้ที่ระดับ 2-3%
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2567 คาดการส่งออกทั้งปีของไทยจะขยายตัวที่ระดับ 3.5-4% ส่วนปี 2568 คาดจะขยายตัวได้ 2.2-2.7% มีปัจจัยบวกจากต่างประเทศที่สำคัญได้แก่ ความต้องการสินค้ารักษ์โลกและการเติบโตของสินค้าสุขภาพ, ตลาดอาเซียนและอินเดียยังเติบโต, สินค้าเทคโนโลยีได้รับความนิยม และตลาด E-Commerce ในต่างประเทศขยายตัวสูง
อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศได้แก่ ทรัมป์ประกาศจะเก็บภาษีสินค้าจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น 10-20%, นโยบายดอกเบี้ยของสหรัฐภายใต้ทรัมป์มีความไม่แน่นอนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท, เศรษฐกิจโลกและจีนชะลอตัว, สงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ส่อรุนแรงขึ้นในยุคทรัมป์จะส่งให้สินค้าจีนทะลักเข้าไทย และเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดทั่วโลก และสงครามจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายคู่ของโลกที่ยังยืดเยื้อ หากปะทุรุนแรงขึ้นอีก มีความเสี่ยงต่อราคาน้ำมันและเป็นอุปสรรคต่อเส้นทางการเดินเรือส่งผลต่อค่าระวางเรือ
ส่วนปัจจัยเสี่ยงในประเทศ ที่สำคัญได้แก่ ต้นทุนการผลิตสูง ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันสินค้าไทยในตลาดโลกลดลง, มูลค่าการส่งออกของไทยขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการรายใหญ่สัดส่วน 70% ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่คิดเป็นสัดส่วน 99.5% ของผู้ประกอบการ ส่งออกได้น้อย, เกษตรกรและเอสเอ็มอีจำนวนมากไม่รู้จักและเข้าไม่ถึงตลาดส่งออก, เอสเอ็มอีปิดตัวจากสินค้าจีน ขณะเดียวกันเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของทุนต่างชาติในไทย
“หากทรัมป์ขึ้นภาษีสินค้าไทยเพิ่ม 10% จะทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐลดลง 5-10% หรือคิดเป็นมูลค่า 1-1.9 แสนล้านบาทในปีนี้ และจากนโยบายของทรัมป์ที่จะลดการขาดดุลการค้า ไทยจะถูกบีบให้นำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่ม”
ส่วนกรณีที่ไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS อย่างเป็นทางการ (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2568 โดยมีรัสเซียเป็นประธานกลุ่ม ) ในด้านบวกไทยมีโอกาสซื้อน้ำมัน ก๊าซ และปุ๋ยราคาถูกจากในกลุ่ม และมีโอกาสค้าขายด้วยเงินหยวน เงินบาท หรือสกุลอื่น ทำให้มีความต้องการเงินบาทเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS มีโอกาสที่ไทยจะถูกทรัมป์สั่งเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มทำให้การส่งออกไทยไปสหรัฐลดลง (ทรัมป์ขู่ BRICS เก็บภาษี 100% หากเลิกใช้ดอลลาร์สหรัฐ)
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ ให้คำแนะนำภาครัฐและเอกชนเพื่อรับมือกับความเสี่ยงส่งออกไทยในปีนี้และเพื่อให้การส่งออกไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ได้แก่ 1.เร่งช่วย SMEs ในการลดต้นทุนการผลิต 2.เพิ่มมูลค่าเพิ่มการส่งออกสินค้ไทย ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี 3.สร้างกลุ่มเกษตรกรรม และผู้ประกอบการให้สามารถหาตลาดและทำตลาดเองได้ และ 4.หาสารสกัดและสารสำคัญในสินค้าเกษตร เพื่อทำเป็นอาหารแห่งอนาคตสร้างสินค้าใหม่ ๆ ที่ตรงกับความต้องการของเทรนด์โลก
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกไทยปี 2568 คาดจะขยายตัว 2-3% (ค่ากลาง 2.5%) หรือคิดเป็นมูลค่า 306,000-309,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดจากฐานปี 2567 ที่คาดการณ์ว่าการส่งออกจะมีมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.2% อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการประกาศมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ และประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องหลังโดนัลด์ ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ ในวันที่ 20 มกราคมนี้
สำหรับปัจจัยที่จะมีผลต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ ด้านปัจจัยหนุนมี 4 ปัจจัยสำคัญ ประกอบด้วย 1.การทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจโลก 2.ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง 3.วัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลางของไทย (สินค้า PCB) มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) 4.การได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต จากปัญหาสงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยท้าทาย ใน 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจการค้า ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น รวมถึงสงครามการค้าสหรัฐ-จีน 2.ความแปรปรวนของสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ 3.ปริมาณการค้าที่ขยายตัวลดลง จากการใช้นโยบายกีดกันทางการค้า 4.ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวน
สำหรับแผนรับมือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น กรณีนโยบายทรัมป์ 2.0 ที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐ เบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์ได้วางแผนทำงานเชิงรุกไว้แล้ว โดยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ จะจัดคณะผู้แทนไทยเดินทางไปสหรัฐฯ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เพื่อไปหารือและเจรจาการค้า และจะอธิบายให้สหรัฐฯ เข้าใจว่า การเกินดุลการค้าของไทยกับสหรัฐ มีส่วนสำคัญจากนักลงทุนสหรัฐ มาลงทุนในไทยและส่งออกสินค้ากลับไป ซึ่งการปรับขึ้นภาษี จะกระทบต่อนักลงทุนสหรัฐด้วย
ทั้งนี้เชื่อว่าไทยจะไม่ถูกสหรัฐปรับขึ้นภาษี เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างจีน และเวียดนาม ที่เกินดุลการค้าสหรัฐมากกว่าไทย
ผู้อำนวยการ สนค.ยังระบุอีกว่า สำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่คาดว่าการส่งออกจะเติบโตในปี 2568 ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง น้ำตาลทราย ยางพารา ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่คาดว่าการส่งออกจะเติบโต ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) รถยนต์ EV และเคมีภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ และโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ทั้งไทยและจีนมีการส่งออกไปยังสหรัฐเหมือนกัน และเกินดุลการค้ากับสหรัฐสูง
ด้านนางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2568 คาดว่า จะเติบโต 2.9% แม้จะยังขยายตัวได้ แต่ก็ยังมีความท้าทาย โดยปัจจัยบวกมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เงินโอน 10,000 บาท และมาตรการ “Easy E-Receipt” และภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 39.5 ล้านคน
อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาภาวะสินเชื่อตึงตัว ที่อาจจะกระทบเศรษฐกิจภาพรวม รวมถึงความเสี่ยงจากนโยบายใหม่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผ่านนโยบายการตั้งกำแพงภาษี พลังงาน และผู้อพยพ ซึ่งจะกระทบต่อ 1.ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ 2.ปริมาณการค้าโลกชะลอตัว หากมีการตอบโต้เกิดขึ้น และ 3.เงินเฟ้อโลกและสหรัฐฯ สูงขึ้น ดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีแนวโน้มคงอยู่ในระดับสูง ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าในระยะสั้น
โดยผลกระทบต่อไทยจะผ่าน 3 ช่องทาง คือ 1.สินค้าไทยต้องแข่งขันกับจีนมากขึ้น 2.การลงทุน จะเห็นการย้ายฐานการผลิตมาไทย และอาเซียนมากขึ้น และ 3.การเชื่อมโยงระหว่างไทยและจีน หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว อาจมีผลต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย
“หากทรัมป์ มีนโยบายกีดกันทางการค้า จะมีสินค้าจีนทะลักเข้ามาไทยมากขึ้น ซึ่งไทยนำเข้าสินค้าจีนสูงกว่าประเทศอื่น ส่วนการบริโภคสินค้านั้น ไทยและจีนเชื่อมโยงกัน แม้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศจะขยายตัวได้ แต่เห็นว่ามีหลาย sector ที่ชะลอตัวและติดลบ เพราะมีการนำเข้าสินค้าจากจีน ซึ่งเป็นความเสี่ยงหากมาตรการกีดกันทางการค้ารุนแรงขึ้น ก็อาจเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยได้” นางปราณี กล่าว
ขณะที่นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท.คาดการณ์ส่งออกไทยปี 2568 จะขยายตัวได้ 1-3% จากมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญเช่น สงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก ปัญหาสงครามจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังยืดเยื้อ ค่าเงินบาทผันผวน ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะดังนี้ 1.การผลักดันให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน กระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พณ.) รายไตรมาส เพื่อติดตามสถานการณ์ความผันผวนการค้าระหว่างประเทศ และ 2.เพิ่มเติมงบประมาณด้านกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการค้า