แนะใช้ "วัด"-"โรงเรียน" รับผู้ป่วยไม่มีอาการ-อาการน้อย "หมอธีระ" ชี้ต้องเร่งหาวัคซีนประสิทธิภาพสูง

30 มิ.ย. 2564 | 02:20 น.

หมอธีระเสนอแนวทางแนะใช้วัดและโรงเรียนเป็นที่พักสำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย เน้นพื้นที่ที่กว้าง ชี้ต้องเร่งหาวัคซีนประสิทธิภาพสูง

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
    สถานการณ์ทั่วโลก 30 มิถุนายน 2564...
    เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 356,810 คน รวมแล้วตอนนี้ 182,549,337 คน ตายเพิ่มอีก 7,107 คน ยอดตายรวม 3,952,961 คน
    5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ บราซิล อินเดีย โคลอมเบีย อาร์เจนติน่า และรัสเซีย
    อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 9,165 คน รวม 34,525,407 คน ตายเพิ่ม 250 คน ยอดเสียชีวิตรวม 619,926 คน อัตราตาย 1.8% 
    อินเดีย ติดเพิ่ม 45,699 คน รวม 30,361,699 คน ตายเพิ่ม 816 คน ยอดเสียชีวิตรวม 398,484 คน อัตราตาย 1.3% 
    บราซิล ติดเพิ่ม 64,903 คน รวม 18,513,305 คน ตายเพิ่มถึง 1,783 คน ยอดเสียชีวิตรวม 515,985 คน อัตราตาย 2.8%  
    ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 2,314 คน ยอดรวม 5,772,844 คน ตายเพิ่ม 33 คน ยอดเสียชีวิตรวม 111,057 คน อัตราตาย 1.9%
    รัสเซีย ติดเพิ่ม 20,616 คน รวม 5,493,557 คน ตายเพิ่ม 652 คน ยอดเสียชีวิตรวม 134,545 คน อัตราตาย 2.4% 
    อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อาร์เจนติน่า อิตาลี และโคลอมเบีย ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น
    แถบอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย อย่างชิลี  แซมเบีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพัน ส่วนแอฟริกาใต้นั้นเกินหมื่นอย่างต่อเนื่อง
    แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่อยู่หลักร้อย ยกเว้นคาซักสถาน คีร์กีซสถาน และมองโกเลียที่ติดเพิ่มหลักพัน 
    แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ส่วนอิหร่านเกินหมื่น
    เกาหลีใต้ และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ไต้หวัน เวียดนาม สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์   

 สถานการณ์ไทยเรา การระบาดรุนแรงต่อเนื่อง เมื่อวานยอดติดเชื้อสูงเป็นอันดับที่ 17 ของโลก และอันดับที่ 8 ของเอเชีย
    การพบคนที่ติดเชื้อโควิดแล้วตัดสินใจออกไปนอนเร่ร่อนที่สถานีตำรวจ เพราะที่บ้านคับแคบ กลัวคนในบ้านจะติดเชื้อ ต้องนำมาคิดวางแผนทบทวน เพื่อช่วยเหลืออย่างจริงจัง เพราะนี่เป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนว่า หากประกาศนโยบายให้กักตัวที่บ้านหรือ Home isolation เพราะไม่สามารถมีเตียงรองรับผู้ติดเชื้อได้เพียงพอ จะเกิดปัญหาตามมาในลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
    สัจธรรมคือ คงมีคนเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่จะมีที่พักอาศัยที่มีพื้นที่แยกกักตัวออกจากสมาชิกในบ้านได้
    ความรู้ทางการแพทย์ที่เรามีปัจจุบัน ความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อแก่สมาชิกในบ้านนั้นมีราว 30% ซึ่งถือว่าสูง
    ดังนั้นจึงมีโอกาสที่เราจะเห็นผลกระทบตามมาหลังจากประกาศนโยบายกักตัวที่บ้าน ใน 2 ลักษณะ ได้แก่ 
    หนึ่ง การติดเชื้อระหว่างสมาชิกในครอบครัวจะเพิ่มขึ้น จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปจะมีการกระจายไปยังส่วนอื่นในสังคมเป็นทอดๆ
    สอง คนที่บ้านไม่มีพื้นที่เพียงพอ และไม่มีทางเลือกอื่นเลย ก็อาจตัดสินใจเร่ร่อนออกจากบ้านดังเช่นที่เห็นในกรณีที่เป็นข่าว ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยได้มากขึ้น
    แม้ทางภาครัฐจะพยายามอย่างเต็มที่ในการจะหาเตียงรองรับ ทั้งที่สถานพยาบาลระดับต่างๆ รวมถึงการสร้างรพ.สนาม และขยายความร่วมมือไปยัง hospitel มากขึ้น แต่จำนวนที่จะรองรับได้ยังคงมีจำกัด และน้อยกว่าจำนวนการติดเชื้อใหม่ที่มีจำนวนหลายพันต่อวันอย่างต่อเนื่อง
    สังคมไทยเราตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มักสัมพันธ์กับ บ้าน-วัด-โรงเรียน หรือ บวร
    ณ จุดวิกฤติเช่นนี้ อาจเป็นประโยชน์ หากพิจารณาขอความช่วยเหลือจากวัด และโรงเรียน ซึ่งมีจำนวนมาก กระจายทั่วพื้นที่ของแต่ละจังหวัด โดยทำการพิจารณาจัดพื้นที่เพื่อเป็นที่พักสำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย เน้นพื้นที่ที่กว้าง จัดระยะห่างระหว่างกันได้ ระบายอากาศดี และจัดระบบสนับสนุนทางการแพทย์ อาหารและน้ำ และสุขาภิบาลตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข แม้จะมีข้อจำกัดมากกว่าระบบ hospitel และรพ.สนามที่ทำมา แต่ทางเลือกเพิ่มเติมนี้ น่าจะช่วยคนตกทุกข์ได้ยากจำนวนไม่น้อยในสังคม
    สิ่งที่ควรพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อเตรียมรับมือในระยะถัดจากนี้คือ การขยายจุดบริการตรวจคัดกรองโรคโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและปลดล็อคกฎเกณฑ์ต่างๆ, การแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันตัวให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งหน้ากากอนามัย และเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์, และการเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ mRNA vaccines, protein subunit vaccine มาใช้เป็นวัคซีนหลักของประเทศ
    สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน เรียนย้ำว่า การใส่หน้ากากนั้นสำคัญมาก สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า เราต้องอยู่รอดปลอดภัย พ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกันให้ได้
    ด้วยรักและห่วงใย
    ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 30 มิถุนายน 2564 จากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 4,786 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,659 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 127 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 230,438 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 53 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,415 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 180,053 ราย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :