เตียงผู้ป่วยโควิดใส่เครื่องช่วยหายใจ กทม.-ปริมณฑลวิกฤต

01 ก.ค. 2564 | 08:41 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2564 | 15:41 น.

หมออนุตตรเผยข้อมูลเตียงผู้ป่วยโควิด-10 ใส่เครื่องช่วยหายใจ กทม.-ปริมณฑลวิกฤต ระบุเพิ่มขึ้นได้ไม่มากเพราะเต็มศักยภาพแล้วในบางพื้นที่ ชี้เป็นปัญหารุนแรง แนะระวังตัวขั้นสูงสุด

รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า    
วันนี้รายงานยอดผู้ป่วยโควิด 19 รายใหม่ 5,533 ราย หายป่วยกลับบ้าน 3,223 ราย ตัวเลขดูสวยทั้งคู่ แต่จะเห็นว่ายอดเตียงที่ต้องการใช้เพิ่มขึ้น 1,310 เตียง
มาดูสถานการณ์แนวโน้มเรื่องการนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยโควิด 19 ตั้งแต่หลังสงกรานต์จนสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 กันนะครับ 
ผู้ป่วยนอน รพ.และ รพ.สนาม (ภาพที่ 1) ที่เพิ่มขึ้นในช่วงแรก ขึ้นสูงสุดในช่วงต้นเดือนมิถุนายน แล้วลดลงช่วงหนึ่ง แต่ในช่วง 10 วันที่ผ่านมากำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างเร็วมาก จนใกล้เคียงกับจุดสูงสุดตอนต้นเดือนที่ประมาณ 5 หมื่นราย และดูมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นเป็นผู้ป่วยที่รับไว้ใน รพ. แต่ผู้ป่วยใน รพ.สนามดูคงที่ จนตอนนี้ยอดผู้ป่วยนอน รพ.มีจำนวนใกล้เคียงกับผู้ป่วย รพ.สนามแล้ว

แนวโน้มผู้ป่วยโควิดนอน รพ. และ รพ.สนาม
ผู้ป่วยอาการหนักและใช้เครื่องช่วยหายใจ (ภาพที่ 2) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงแรก แล้วคงที่มาตลอดตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน จนในช่วง 2 สัปดาห์หลังมีจำนวนผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขี้นจากประมาณ 1,200 รายเป็นเกือบ 2,000 ราย โดยผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก จากประมาณ 400 รายเป็น 550 ราย น่าจะเป็นเพราะเตียงสำหรับผู้ใช้เครื่องหายใจแน่นมากจนเต็มศักยภาพแล้วในบางพื้นที่

แนวโน้มผู้ป่วยโควิดอาการหนักและใช้เครื่องช่วยหายใจ

ปัญหาเหล่านี้รุนแรงมากใน กทม.และปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่ระบาดอื่น ๆ บุคลากรทางการแพทย์หน้างานทุกคนเหน็ดเหนื่อยทั้งกายและใจ โดยเฉพาะเสียงสะท้อนจากแพทย์หน้างานหลายคน ที่ต้องตัดสินใจเลือกผู้ป่วยที่จะใช้หรือไม่ใช้เครื่องช่วยหายใจกันแล้ว
ขอให้ทุกคนระวังตัวกันสูงสุดครับ การระบาดของโควิด 19 รอบนี้มีการแพร่กระจายที่รวดเร็ว  ตอนนี้มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่ทราบที่มาที่ไปว่าติดเชื้อจากที่ใด มาตรการของภาครัฐถ้าได้ผลคงต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 10 วัน ดังนั้นพวกเราทุกคนต้องหลีกเลี่ยงที่ชุมชน อยู่ทำงานที่บ้าน เว้นระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย อย่าประมาทนะครับ
ขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทุกคน ที่ต้องฟันฝ่าความยากลำบากนี้ไปด้วยกันให้ได้ครับ

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 1 กรกฏาคม 2564 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า  ติดเชื้อเพิ่ม 5533 ราย
สะสมระลอกที่สาม 235,971 ราย
สะสมทั้งหมด 264,834 ราย
หายป่วยกลับบ้าน 3223 ราย
สะสม 183,276 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 57 ราย
สะสมแล้วระลอกที่สาม 1986 ราย
สะสมทั้งหมด 2080 ราย