9 กรกฎาคม 2564 - คำสั่ง การล็อกดาวน์แคมป์คนงานก่อสร้าง ซึ่งกำหนด ห้ามแรงงานในแคมป์ เข้า-ออก จากพื้นที่ เพื่อสกัดต้นต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในพื้นที่สีแดง กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม) โดยมีผลบังคับใช้ เป็นระยะเวลา 30 วัน เริ่มตั้งแต่ 28 มิถุนายน -27 กรกฎาคม 2564 นั้น นำมาซึ่งปัญหาและข้อเรียกร้องจากฝ่ายเกี่ยวข้องจำนวนมาก ถึงผลกระทบ
ขณะเดียวกัน นางสาววรรณวิภา ไม้สน ส.ส.พรรคก้าวไกล ออกมาให้ข่าวทางทวิตเตอร์และเพจเฟสบุ๊คส่วนตัว ว่า แรงงานจำนวนไม่น้อย ได้รับเงินเยียวยาล่าช้า ล่าสุด นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยว่า ตามที่ ส.ส.คนดังกล่าว ออกมาให้ข่าว ยืนยันว่าคำอ้าง ตามที่ส.ส.คนดังกล่าว ระบุ " วันนั้นบอกจ่ายเงินสดทุก 5 วัน วันนี้ บอกดีเดย์เริ่ม 23 นี้ สรุปว่าจะเยียวยาก็เกือบเดือน รัฐบาลชุดนี้เหลืออะไรให้เชื่อถือได้บ้าง ? " นั้น
ในเรื่องนี้ กระทรวงแรงงาน ขอชี้แจงรายละเอียด ดังนี้ กรณีการประกาศปิดแคมป์คนงานก่อสร้างตามประกาศ ศบค.นั้น กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้จ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเหตุสุดวิสัยโควิด-19 โดยตัดจ่ายระยะเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม 2564 ได้มีการจ่ายให้แก่ลูกจ้างจำนวน 13,655 ราย เป็นเงิน 28,494,966.60 บาท
นางเธียรรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนการจ่ายเงินวันที่ 23 กรกฎาคมนั้น เป็นเงินของรัฐบาล ตาม พ.ร.บ.กู้เงินที่จะเยียวยาให้ลูกจ้างและนายจ้างเพิ่มเติม ซึ่งเป็นเงินคนละส่วนกับของสำนักงานประกันสังคม การที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ออกมาให้ข่าวลักษณะดังกล่าวทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เข้าใจผิด ถ้าไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงให้มาสอบถาม ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยินดีต้อนรับทุกคน ในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานให้ได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด
สำหรับเงินเยียวยาคนงานก่อสร้างนั้น กระทรวงแรงงาน จะจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 เนื่องจากสถานประกอบการถูกปิดตามคำสั่ง ศบค. โดยให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเป็นเงินสด 50 เปอร์เซ็นของค่าจ้าง ให้คนงานทุกๆ 5 วัน พร้อมดูแลเรื่องอาหารทุกมื้อด้วย ตลอด 1 เดือน ตามรายชื่อที่นายจ้างรับรองวันต่อวัน ตลอดเวลาการปิดแคมป์ก่อสร้าง