14 ก.ค.ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีการประชุม คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยกรรมการผู้เชี่ยวชาญ
ภายหลังการประชุม นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการจัดหาวัคซีนหลากหลายชนิด ทั้ง m-RNA ,ไวรัสเวกเตอร์,ซับยูนิตโปรตีน และอื่น ๆ จำนวนทั้งสิ้น 120 ล้านโดส ในปี 2565 เนื่องจากคำนึงถึงสถานการณ์การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) และในปี 2564 ต้องเร่งรัดจัดหาวัคซีนให้ได้ครบ 100 ล้านโดส สำหรับคนที่ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข มาตรา 18 พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ในการกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนป้องกันโควิดไปภายนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยที่ประชุมได้มีการหารือในเรื่องนี้อย่างกว้างขวางและพิจารณาถึงผลกระทบในทุกมิติ และความเป็นไปได้
ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการและมอบให้ฝ่ายเลขานุการ คือสถาบันวัคซีนฯ และกรมควบคุมโรค พิจารณาทบทวนเนื้อหาของร่างประกาศดังกล่าว โดยพิจารณาผลกระทบ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศด้านต่างๆ และของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก และให้ดำเนินการเจรจาเต็มที่กับผู้ผลิตวัคซีนเพื่อให้ได้ปริมาณที่เหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดของโรคในประเทศ และเมื่อได้ผลอย่างไรให้กลับมารายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเห็นชอบร่างประกาศต่อไป เนื่องจากสัดส่วนของวัคซีนที่ได้รับในปัจจุบันอยู่ที่ 1ใน 3 ของกระบวนการผลิต
สำหรับคำถามที่ว่า การกำหนดสัดส่วนการส่งออกมีสัดส่วนในการพิจารณาอย่างไรนั้น นพ.นคร กล่าวว่า ตัวประกาศยังไม่ออก แต่โดยเนื้อหา ได้ให้ฝ่ายเลขาฯ ไปพิจารณาเนื้อหาเพื่อทบทวนผลกระทบด้านต่างๆ ให้รอบคอบอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างเวลานี้ก็ไปเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนให้ส่งมอบกับประเทศไทยให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในประเทศ
“ที่ผ่านมามีการเจรจา และผู้ผลิตบอกแนวทางการจัดสรรว่า จะให้อยู่ 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศ เพราะยอดการสั่งซื้อของเราอยู่ในสัดส่วน 1 ใน 3 ของยอดกำลังการผลิตโดยรวมทั้งหมด เขาจะจัดส่งวัคซีนให้ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตในแต่ละช่วงเวลา เนื่องจากการผลิตไม่ได้มีโดสการผลิตที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และกำลังการผลิตของแต่ละช่วงเวลา จึงเป็นข้อตกลงว่าส่งมอบ 1 ใน 3 ของการผลิตในแต่ละช่วงเวลา” นพ.นครกล่าว
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรี กำชับให้มีการพิจารณาคำเตือนขององค์การอนามัยโลก (WHO) เรื่องการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อว่า ในวันนี้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้ แต่จะมีคณะกรรมการวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จะพิจารณาในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน แต่ต้องย้ำว่า องค์การอนามัยโลก ได้ออกประกาศเรื่องนี้ค่อนข้างยาว การไปตัดท่อนใดท่อนหนึ่งก็จะเกิดปัญหาได้ แต่ภาพรวมองค์การอนามัยโลกเห็นว่า ถ้าหน่วยงานสาธารณสุขของแต่ละประเทศ มีข้อมูลวิชาการในการสนับสนุน ในการเลือกใช้วัคซีนแบบใดแบบหนึ่ง ก็สามารถดำเนินการได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของแต่ละประเทศ ไม่ได้ระบุว่าทำแล้วเกิดอันตรายหรือห้ามทำ