นายกฯ ขอให้ประชาชนเชื่อมั่น“วัคซีนโควิด” 3 ยี่ห้อที่ไทยเลือกใช้ WHO รับรอง

15 ก.ค. 2564 | 05:20 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2564 | 12:47 น.

นายกฯ ขอให้ประชาชนเชื่อมั่น “วัคซีนโควิด”  3 ยี่ห้อ “แอสตร้าเซนเนก้า-ซิโนแวค –ซิโนฟาร์ม” ที่รัฐบาลเร่งจัดหาให้เป็น “วัคซีนหลัก” และ “วัคซีนทางเลือก” ระบุ WHO พร้อมเร่งจัดหาเพิ่มเติม

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า “วัคซีนโควิด” ที่รัฐบาลเร่งจัดหาให้เป็นวัคซีนหลัก และ “วัคซีนทางเลือก” เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนให้กับทุกคนที่อยู่ในประเทศทั้ง 3 ยี่ห้อ ในขณะนี้เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ 

 

โดยที่ แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) และ ซิโนแวค (Sinovac) ซึ่งเป็นวัคซีนหลัก และ ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกนั้น ได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การอนามัยโลก และ องค์การอาหารและยา(อย.) และ ได้รับการยืนยันทางการแพทย์ และนักระบาดวิทยาว่า มีประสิทธิภาพสามารถลดอัตราการเสียชีวิต และอัตราการเกิดอาการรุนแรงของผู้ติดเชื้อ
 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้มีแผนการนำเข้าวัคซีนต่างเทคโนโลยี อาทิ วัคซีน Pfizer และวัคซีน Moderna ซึ่งเป็นเทคโนโลยี mRNA และวัคซีน Johnson & Johnson ซึ่งเป็นเทคโนโลยี Viral Vector Vaccine เช่นเดียวกับ  AstraZeneca  

ขณะที่ ซิโนแวค  และ ซิโนฟาร์ม เป็น  Inactivated Vaccine เพื่อให้ความมั่นใจว่าทุกคนที่อยู่ประเทศไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและสามารถลดภาวะเจ็บป่วยรุนแรง 


ทั้งนี้  องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า เมื่อวันที่  15 ก.พ. 2564, วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2564 ขณะที่วัคซีนทั้ง 3 ยี่ห้อ องค์การอาหารและยา  ได้อนุมัติเพื่อให้สามารถใช้ในภาวะฉุกเฉิน โดยแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) เมื่อวันที่  20 ม.ค.2564  ซิโนแวค (Sinovac) 22 ก.พ.2564   และ ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2564 ที่ผ่านมา
 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า วัคซีนที่ไทยนำเข้ามาใช้ทั้ง 3 ยี่ห้อ มีใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยแอสตร้าเซนเนก้ามีการใช้แล้วใน 118 ประเทศทั่วโลกขณะที่ซิโนแวคมีใช้ใน 37 ประเทศ และ ซิโนฟาร์ม มีการใช้ 56 ประเทศทั่วโลก 

 

นอกจากนี้ องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน (The Vaccine Alliance หรือ Gavi) ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือระหว่างองค์กรรัฐและเอกชน ซึ่งมีทั้ง องค์การอนามัยโลก และ UNICEF ร่วมเป็นสมาชิก มีแผนการจัดส่งวัคซีนกว่า 110 ล้านโดส จาก Sinopharm จำนวน 60 ล้านโดส  และ Sinovac ประมาณ 50 ล้าน ภายในปีนี้ เพื่อสนับสนุน COVAX ในการแจกจ่ายให้กับประเทศยากจนทั่วโลก 

 

“ถือเป็นความร่วมมือกันในระดับนานาชาติ เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโวคิด-19  เพราะทุกประเทศ รวมทั้งท่านนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ และ เห็นสอดคล้องว่า วัคซีนยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับระบาดไปอีกอย่างน้อยใน 1-2 ปีข้างหน้า” นายอนุชา ระบุ