สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ข้อมูลล่าสุดจาก บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ระบุว่า ปัจจุบันไทยมีหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระบบเครดิตบูโรราว 13.6 ล้านล้านบาท หากรวมกับหนี้ กยศ. และ สหกรณ์ออมทรัพย์ น่าจะอยู่ที่ราว 16.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นราว 89% ต่อ GDP
ทำให้รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการคุมหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับปลอดภัยไม่เกิน 80% ต่อ GDP ผ่านมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ไปจนถึงการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เพื่อซื้อหนี้เสียออกจากระบบ
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ให้แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การตั้ง AMC ซื้อหนี้เสียออกจากระบบไปบริหาร เพื่อแก้ปัญหาหนี้เสียในระบบไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากในอดีตเคยมีการทำในลักษณะนี้มาก่อนแล้ว แต่ปัจจุบัน สถานการณ์และบริบทเปลี่ยนไป จึงต้องออกแบบให้เหมาะสมกับปัจจุบัน
นายสุรพล ชี้ว่า ปัจจุบัน หนี้ครัวเรือนไทย มีหนี้เสียในระบบอยู่ราว 1.22 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้คิดเป็นจำนวนหัวลูกหนี้ 5.4 ล้านราย หรือกว่า 9.5 ล้านบัญชี หากวิเคราะห์เจาะลึกลงไปจะพบว่า ในบรรดาลูกหนี้ที่เป็น NPL นั้น ส่วนใหญ่ 65% จำนวน 3.5 ล้านคนเป็นหนี้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)
แต่หากคิดเป็นปริมาณหนี้จะอยู่ที่ 123,000 ล้านบาท หรือ 10% ของยอดหนี้เสียทั้งหมด เท่ากับว่า หากรัฐสามารถแก้ไขหนี้กลุ่มนี้ได้จะสามารถช่วยลูกหนี้ส่วนใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไทย คิดเป็นประมาณ 10% ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ
“กลุ่มนี้คือคนที่มีชีวิต มีศักยภาพ แต่หลุดจากระบบ คนเหล่านี้หนีหน้า เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ ไม่ยอมรับการติดต่อจากเจ้าหนี้ ถ้าเราสามารถช่วยพวกเขาให้กลับเข้าระบบได้ เศรษฐกิจไทยจะมีแรงขับเคลื่อนเพิ่มขึ้นทันที” นายสุรพลกล่าว
โครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ เปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมตั้งแต่ 12 ธ.ค. 67 ถึงวันที่ 28 ก.พ. 68 ซึ่งมีการขยายเป็นสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย. 68 โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยราว 2 ล้านคนยอดหนี้รวมประมาณ 8.9 แสนล้านบาท
แต่จากข้อมูลจากเครดิตบูโร ณ สิ้นเดือน ก.พ. 2568 พบว่ามีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ประมาณ 1 ล้านบัญชี แต่ถูกคัดกรองผ่านเกณฑ์เหลือเพียง 400,000 บัญชี และลงนามในสัญญาเข้าสู่ระบบจริงเพียง 280,000 บัญชี หรือคิดเป็นราว 13% ของเป้าหมายเดิม
“ปัญหาหลักที่ทำให้ลูกหนี้ไม่เข้าสู่โครงการ ได้แก่ 1) เงื่อนไขห้ามกู้เพิ่มระหว่างอยู่ในโครงการ 2) ต้องชำระครบ 36 งวด แต่ห้ามพลาดแม้แต่งวดเดียว และ 3) ปัญหาการกู้ร่วม เช่น กู้ซื้อบ้านร่วมกันแต่ผู้ร่วมกู้ไม่ยินยอมเข้าร่วมโครงการ”
หากพิจารณาจากวงเงินงบประมาณของโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ได้รับมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่
1. การลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เหลือครึ่งเดียว 0.23% จากเดิม 0.46% ทำให้มีเงินเหลือเฉลี่ย 39,000 ล้านบาทเป็นระยะเวลา 3 ปี ทำให้ในส่วนนี้จะมีวงเงินงบประมาณราว 117,000 ล้านบาท
2. ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) จาก 0.25% เหลือ 0.125% ต่อปี สำหรับรอบการนำส่งเงินในปี 68 ทำให้มีวงเงินใช้ในโครงการนี้เพิ่มอีก 38,920 ล้านบาท
3. เงินจากสถาบันการเงินในสัดส่วนใกล้เคียงหรือเท่ากัน โดยรวมจะมีเงินสมทบช่วยเหลือ 78,000 ล้านบาทต่อปี
เมื่อรวมทุกแหล่งเงิน โครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ล่าสุดจะมีเงินทุนทั้งหมดกว่า 2.3 แสนล้านบาท ตามที่ ธปท. ประกาศ ภายในระยะเวลา 3 ปี มีการคาดการณ์ว่า โครงการดังกล่าวน่าจะบรรลุเป้าหมายเพียงครึ่งเดียว ดังนั้นเงินส่วนที่เหลืออีกครึ่ง หรือ 1.15 แสนล้านก็จะกลายเป็นแหล่งเงินชั้นดี สำหรับโยกไปใช้ในโครงการซื้อหนี้ได้
นายสุรพลเสนอแนวทางการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เพื่อรับโอนหนี้เสียจากหลายแหล่งมาไว้ในที่เดียว โดยเน้นกลุ่มหนี้ไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน พร้อมออกแบบกระบวนการเจรจาหนี้ให้ลูกหนี้มีช่องทางเคลียร์หนี้ง่ายขึ้น โดยอาจรวมถึงการจัดวงเงินกู้ใหม่จากธนาคารรัฐ หรือแหล่งเงินต่าง ๆ เพื่อให้ไปปิดหนี้นอกระบบด้วย
ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ AMC อาจตั้งขึ้นใหม่ หรือใช้ของเดิมที่มีอยู่ก็ได้ แต่ต้องมีความสามารถ 2 ส่วนสำคัญ คือปิดจบหนี้ และปล่อยกู้ได้ ซึ่งในส่วนการปล่อยกู้นั้น จะต้องมีการไปแก้กฎหมาย หากมองว่าเร่งด่วนก็สามารถออกเป็น พ.ร.ก. บังคับใช้ได้
“AMC ต้องปล่อยกู้ได้ เพื่อให้ลูกหนี้นำเงินไปปิดหนี้นอกระบบได้ เพื่อจูงใจให้พวกเขาเข้าสู่กระบวนการแก้หนี้ในระยะยาว ส่วนการสืบทราบว่า แต่ละรายมีหนี้นอกระบบเท่าไร มีจริงหรือไม่ กู้แล้วจะพิสูจน์อย่างไรว่านำเงินไปใช้หนี้จริง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ AMC นั้น ๆ ไปทำการตรวจสอบตามขั้นตอนกันเอง”
สำหรับโมเดลของ AMC สุรพล เสนอว่าต้องเริ่มจากโยกแหล่งเงินทุนจากโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ไปทำการเจรจาซื้อหนี้จากธนาคาร หนี้เสีย ซึ่งปกติแล้ว หนี้เสียอายุไม่เกิน 1 ปี ไม่มีหลักประกัน มักจะรับซื้อในอัตรา 5-7% ส่วนหนี้เสียมีหลักประกัน (บ้าน,รถ) จะรับซื้อ 30-40% จากนั้น แฮร์คัทหนี้แบบลึก ๆ ให้ลูกหนี้มีความสามารถในการชำระคืน
“สมมติว่า หนี้เสียทั้งระบบ 1.22 ล้านล้านบาท ไปเจรจารับซื้อหนี้มาในอัตราเฉลี่ย 5% เลย แบงก์อาจยอมปล่อย เพราะดีกว่าปล่อยให้มันสูญไป หากทำได้ AMC จะมีต้นทุนการซื้อหนี้เสียทั้งระบบเพียง 61,000 ล้านบาท สามารถใช้งบประมาณที่เหลือจาก คุณสู้เราช่วย มาจัดการในส่วนนี้ได้ทันที”
นายสุรพล ย้ำว่าโมเดล AMC นี้ “ไม่ก่อให้เกิด Moral Hazard” เพราะลูกหนี้ต้องแสดงเจตนาอยากกลับมาอยู่ในระบบ ต้องพิสูจน์ตัวเองว่ายังมีรายได้ ยังมีความรับผิดชอบ ขณะเดียวกันโมเดล AMC ไม่ใช่การยกหนี้ให้ฟรี แต่เป็นเวทีให้ “คนที่หนี” หรือ “คนที่พลาด” กลับมาจ่ายหนี้ก้อนที่เล็กลง ไม่ใช่การล้างหนี้ให้ฟรี ๆ
ต่อมาโมเดลนี้จะมีการ “ตีตรา” คนที่เข้าโครงการ เพื่อไม่ให้กลับไปก่อหนี้ใหม่ทันที โดยผู้ที่เข้าโครงการจะมี ‘รหัสพิเศษ’ ในเครดิตบูโร เช่น เป็นกลุ่มที่เคยเข้าโครงการฟื้นฟูฯ จะไม่สามารถกู้ใหม่กับธนาคารทั่วไปได้ทันที ต้องมี “พฤติกรรมการชำระใหม่” ให้เห็นก่อนป้องกันความคิดที่ว่า “พังได้อีก เดี๋ยวก็มีรัฐมาช่วย”
และสุดท้าย ยืนยันว่าไม่ใช่ทุกคนจะได้สิทธิได้เข้าร่วมโครงการ โดย AMC จะโฟกัสกลุ่มที่มีหนี้น้อย แต่คนเยอะ ช่วยแล้วกระจายผลลัพธ์ ไม่ได้ช่วยรายใหญ่ และไม่ใช้เงินไปช่วยคนที่มีศักยภาพแต่ไม่รับผิดชอบ ดังนั้น กลุ่มที่ควรโฟกัสคือ 3.5 ล้านคนที่หนี้ไม่เกินแสน เพราะช่วยแล้วได้ผลค่อนข้างมาก
“เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนต้องอย่าลืมว่า จริง ๆ แล้ว การไม่ช่วย เท่ากับ Moral Hazard เหมือนกัน รู้ว่าคนเหล่านี้เดือดร้อน แต่ไม่ช่วยอะไรเลย นั่นก็คือ Moral Hazard การไม่ทำอะไรเลย คือการละเลยหน้าที่ ยิ่งทำให้ระบบหนี้เสียฝังลึก ถ้าไม่สร้างโครงสร้างฟื้นฟู คนดีที่พลาดจะหมดกำลังใจ ก็จะหนีไปพึ่งหนี้นอกระบบอีก”