รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
สิ่งที่ควรระวัง หากประกาศล็อกดาวน์
1. ถ้าล็อกดาวน์เพียงระดับจังหวัด หรือภูมิภาค โดยไม่ได้ทำทั้งประเทศ ผลลัพธ์จะเป็นเหมือนกินยาบรรเทาอาการปวดหัวจากเชื้อราในสมอง แต่หมดฤทธิ์ยาก็จะกำเริบอีก และหนักขึ้นจนคุกคามต่อชีวิตได้ หลายต่อหลายประเทศก็ประสบกับสภาพดังกล่าวจนสุดท้ายก็มาจบที่ Full national lockdown ตอนย่ำแย่มากในที่สุด
2. ตามธรรมชาติของการระบาดระดับหมื่นต่อวัน การล็อกดาวน์นั้นจะใช้เวลานานตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปจนถึงหลายเดือนได้ แปรผันตามมาตรการคู่ขนานว่าจะเข้มข้นมากน้อยเพียงใด
3. หัวใจสำคัญคือ ระบบการตรวจคัดกรองโรค ต้องมีจุดบริการที่มาก ครอบคลุมทั่วถึง หลากหลายรูปแบบ ทั้งในสถานพยาบาล สถานบริการนอกสถานที่ รถเคลื่อนที่ รวมถึงการ knock the door and do the test ในพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึง (outreach) ทั้งนี้เป้าที่ต้องตั้งไว้คือ ตรวจให้ได้อย่างน้อย 150,000 test ต่อวัน เพราะยิ่งทำได้ช้า การล็อกยิ่งต้องยาวนาน และสูญเสียมากขึ้น ตามการระบาดไม่ทัน
4. วัคซีนนั้น อย่าทำแบบเดิมเลย ยอมปรับนโยบายใหม่ทั้งหมด เร่งจัดหาวัคซีนประสิทธิภาพสูงดังที่เคยบอกไปแล้ว ในขณะที่ระหว่างรอ ก็ใช้ Sinopharm มาให้สำหรับทุกคนที่อายุตั้งแต่ 18 ปี และ Astra สำหรับคนที่อายุตั้งแต่ 60 ปี โปรดอย่าเล่นแร่แปรธาตุ ไขว้โน่นนี่นั่น เล่นกับผลของตัวชี้วัดโดยอ้อมซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อ ลดความรุนแรง ลดการเสียชีวิตได้ เพราะเป็นการทำให้ทุกคนเสี่ยงเกินกว่าจะยอมรับได้
5. เตรียมแผนรับมือไว้เลยว่า หลังล็อกดาวน์ จะมีจำนวนการติดเชื้อสูงขึ้นในที่อยู่อาศัย การสอนให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ทั้งในบ้าน คอนโด แฟลต อพาร์ตเมนท์ หมู่บ้าน หรือชุมชน ได้มี protocol การดำรงชีวิตประจำวัน โดยประกอบด้วย
หนึ่ง ถามไถ่สอบถามอาการผิดปกติระหว่างสมาชิกที่อาศัยอยู่ร่วมกันทุกวัน
สอง เน้นย้ำการปฏิบัติที่ควรทำ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อติดเชื้อ
สาม ส่งข่าว สื่อสารระหว่างกันในชุมชน เพื่อทราบความเป็นไปของสภาพแวดล้อมใกล้ตัว ว่ามีใครไม่สบาย ติดเชื้อบ้างหรือไม่ และหากประเมินว่ามีความเสี่ยง ก็ต้องมีแนวทางเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองโรคโดยเร็ว เพื่อนำส่งเข้าสู่ระบบดูแลรักษา
สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งสำคัญ
ย่างก้าวที่ ศบค. จะตัดสินใจเดินในช่วงเวลาถัดจากนี้ มีเดิมพันที่สูงมากถ้าคิดจะสู้ศึกนี้ ต้องเลือกวิธีที่สู้แล้วต้องชนะเท่านั้น ปิดประตูแพ้ ความเสี่ยงต่อการพ่ายแพ้ต้องเป็น 0 เพราะหากครั้งนี้ไม่สำเร็จ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจะมากเกินกว่าที่ประชาชนส่วนใหญ่จะยืนระยะต่อไปได้
ถ้าคุณพร้อม ผมพร้อม พวกเราพร้อม และมียุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง การทุบหม้อข้าวตีเมืองจันท์ก็คงพอมีหวัง แต่หากยังไปในแนวเดิมดังที่ทำในครึ่งปีที่ผ่านมา ก็จะขอภาวนาและทำได้เพียงเอาใจช่วยให้ผิดไปจากที่คาดการณ์
อย่างไรก็ดี "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า วันนี้(18 ก.ค.64) ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อ ข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ลงนามโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อยกระดับล็อกดาวน์ เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการบังคับใช้อย่างจริงจังเพิ่มเติม โดยสรุปประเด็นสำคัญของมาตรการยกระดับล็อกดาวน์
ยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เป็น 13 จังหวัด ( เพิ่มจังหวัด ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา) ได้แก่
1. กรุงเทพมหานคร
2. จังหวัดฉะเชิงเทรา
3. จังหวัดชลบุรี
4. จังหวัดนครปฐม
5. จังหวัดนนทบุรี
6. จังหวัดนราธิวาส
7. จังหวัดปทุมธานี
8. จังหวัดปัตตานี
9. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
10. จังหวัดยะลา
11. จังหวัดสงขลา
12. จังหวัดสมุทรปราการ
13. จังหวัดสมุทรสาคร
จํากัดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง ในเขตพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุด และเข้มงวด เลี่ยง จํากัด หรืองดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถานหรือที่พํานัก โดยไม่จําเป็น ยกเว้นกรณีที่จำเป็น เช่น การเดินทางเพื่อจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จําเป็น ต่อการดํารงชีวิต อาหาร ยาหรือเวชภัณฑ์ การเดินทางเพื่อพบแพทย์
ขยายเวลาเคอร์ฟิวต่ออีก 14 วัน จนถึง 2 สิงหาคม 2564 ( นับจาก 20 ก.ค. 64)
-ห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม ออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วันนับแต่วันที่ข้อกําหนดฉบับนี้ ใช้บังคับ
สกัดการใช้เส้นทางคมนาคมและการตรวจคัดกรองการเดินทาง ชะลอหรือสกัดกั้นการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ในการเดินทางไปยังพื้นที่อื่น โดยให้เป็นไปตามแนวทางที่ ศปก.ศบค. กําหนดเป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 14 วัน
ขนส่งสาธารณะ จํากัดจํานวนผู้โดยสารที่ใช้บริการ ไม่เกิน 50% ของความจุผู้โดยสาร เว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด
ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อ ออกคำสั่งปิดสถานที่หรือกิจการที่มีความเสี่ยง ให้ดําเนินการต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 14วัน
ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกันมากกว่า 5 คน ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนจัดการอบรม สัมมนา หรือการประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก งดจัดกิจกรรม
ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป เว้นเฉพาะมาตรการขนส่งสาธารณะ ตามข้อ 5 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป