แหล่งข่าวจากวงการแพทย์ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจ ถึงความคืบหน้าการนำเข้า "วัคซีนไฟเซอร์" ในการเซ็นสัญญาระหว่างหน่วยงานที่มีสิทธินำเข้าวัคซีนตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ข้อที่ 3 ที่ระบุให้ 5 หน่วยงาน ที่มีหน้าที่และดำเนินการจัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเร่งด่วนว่า
อัพเดท: ด่วน "ไฟเซอร์" เซ็นสัญญาขายวัคซีนโควิดให้ สธ.แล้ว 20 ล้านโดส
ขณะนี้ได้ตรวจสอบเอกสารสัญญาระหว่างกันและลงนามเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว เตรียมดำเนินการเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการในอีก 1-2 วันข้างหน้า โดยวัคซีนไฟเซอร์จะเข้ามาในประเทศไทยภายในเดือนกรกฏาคมนี้ 5 ล้านโดส และจะทยอยเข้ามาทุกๆสัปดาห์ จนครบจำนวน 40 ล้านโดส โดยการพิจารณาสัญญาที่เกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายกฎหมาย บริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ หลังจากนี้ไปหน่วยงานที่นำเข้าวัคซีนจะมีการชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เป็นกระแสข่าวร้อนเรื่องเมื่อนายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการเครือรพ. ธนบุรี เปิดเผยถึงหน่วยงานของรัฐที่มีสิทธินำเข้าวัคซีน ได้เจรจากับไบออนเทคผู้ผลิตวัคซีน”ไฟเซอร์” โดยจะนำเข้ามาในประเทศไทย 20 ล้านโดส ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดว่าหน่วยงานไหนเป็นผู้นำเข้า
เมื่อพิจารณาจำนวนการนำเข้าวัคซีนวัคซีนไฟเซอร์ จากเดิม 20 ล้านโดส เป็น 40 ล้านโดส เท่ากับว่าหน่วยงานที่นำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ มีความสามารถในการเจรจาและจัดหาวัคซีนชนิด mRNA ได้มากกว่าที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ถึง 1 เท่าตัว และหมายความว่าจะเป็นการนำเข้าวัคซีน mRNA ที่เป็นที่ยอมรับว่ามีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับไวรัสกลายพันธ์ได้ดีที่สุดในบรรดาวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นล็อตแรกของประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ วันที่ 18 ก.ค. 64 มีการประชุมหารือแนวทางการสื่อสารภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2564 ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ผอ.ศปก.ศบค. เป็นประธาน
โดยการประชุมครั้งนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวในที่ประชุมเรื่องข้อทักท้วงเรื่องวัคซีน โดยเป้าหมายของไทยคือจะมีวัคซีน 100 ล้านโดส จนถึงสิ้นปี 2564 ซึ่งในเดือน มิ.ย. ไทยได้วัควีน 6 ล้านโดส และเดือน ก.ค. ได้รับอีก 10 ล้านโดส ที่คาดการณ์ไว้
ส่วนขณะนี้ ได้จัดหาวัคซีนเพิ่มทั้งซิโนแวค และไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส ที่จะเซ็นคำสั่งซื้อในวันที่ 19 ก.ค. ที่จะมาถึงในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ไม่ใช่ 40 ล้านโดสตามที่มีข่าวลือ
รวมถึงเตรียมเจรจาเพิ่มอีก 50 ล้านโดส โดยวัคซีนจะเน้นกระจายไปที่กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะในพื้นที่ระบาดสูง ส่วนวัคซีนที่สหรัฐอเมริกา บริจาค 1.5 ล้านโดสจะมาวันที่ 29 ก.ค.นี้
ทั้งนี้ ยืนยันว่าการเจรจาวัคซีนจะมีต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่ไม่ยาก แต่ต้องปฏิบัติตามองค์ข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก พร้อมยอมรับว่าข้อมูลการจัดซื้อวัคซีนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต่อจากนี้จึงจะมีการปรับปรุงเรื่องการให้ข้อมูล
โดยยืนยันว่าเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข และกรมควบคุมโรค มีข้อมูลที่จะอ้างอิงในการจัดหาวัคซีนทั้งหมด รวมถึงยุทธศาสตร์วัคซีนในไทย