แหล่งข่าวระดับสูงในวงการสาธารณสุข เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความคืบหน้าการนำเข้า “วัคซีนโควิดไฟเซอร์” 40 ล้านโดส ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่มีสิทธินำเข้าวัคซีนกับภาคเอกชนเครือโรงพยาบาลธนบุรีนั้น ล่าสุดพบว่า ขั้นตอนต่างๆ บรรลุข้อตกลงเรียบร้อยแล้ว
รวมถึงการอนุมัติวงเงินบริหารจัดการนำเข้าวัคซีนจำนวน 4 หมื่นล้านบาทด้วย โดยหน่วยงานภาครัฐที่นำเข้าวัคซีนจะจัดงานแถลงข่าวใน 1-2 วันนี้ พร้อมแจกแจงรายละเอียดต่างๆ หลังจากที่เอกสารสัญญาได้ผ่านการตรวจสอบและลงนามเรียบร้อยแล้ว โดยการพิจารณาสัญญาที่เกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายกฎหมาย บริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่
โดยเบื้องต้นวัคซีนไฟเซอร์ จะถูกส่งถึงเมืองไทยจำนวน 5 ล้านโดส ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วนที่เหลือจะทยอยเข้ามาทุกสัปดาห์จนครบจำนวนทั้งหมดโดยวัคซีนที่จะนำเข้ามาในครั้งนี้มีทั้งวัคซีนไฟเซอร์และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (J&J)
ซึ่งทั้ง 2 ยี่ห้อเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย. แล้วและสามารถนำเข้ามาฉีดให้กับคนไทยได้ทันที สำหรับการเจรจานำเข้าครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากอดีตนายธนาคารและนายแพทย์ชื่อดังเป็นผู้ดำเนินการ โดยมีทีมผู้ประสานงานทั้งในไทยและต่างประเทศ
แม้ขณะนี้จะยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อหน่วยงานรัฐที่ร่วมมือกับเครือรพ.ธนบุรี แต่จากข้อมูลของเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเผยแพร่ประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
เรื่องแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ระบุถึงการอนุญาตให้ 5 หน่วยงานหลักมีสิทธิในการนำเข้าวัคซีนต้านโควิด-19 ได้อย่างเร่งด่วน
ประกอบด้วย 1) กรมควบคุมโรค 2) องค์การเภสัชกรรม 3) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ 4) สภากาชาดไทย และ 5) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นั้นพบว่า 4 หน่วยงานได้ออกมาปฏิเสธการเข้าร่วมสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์ในครั้งนี้ เหลือเพียง “สภากาชาดไทย” เท่านั้น
สธ.ชิงเซ็นสัญญาไฟเซอร์
ทั้งนี้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบออนเทคได้รับการพัฒนาโดย บริษัท ไฟเซอร์และไบออนเทค เป็นเทคโนโลยี mRNAที่ไบออนเทคเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเป็นผู้ได้รับอนุญาตทางการตลาดในสหภาพยุโรปและยังเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน
หรือเทียบเท่าในประเทศสหรัฐอเมริกา (ร่วมกับไฟเซอร์) ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับไวรัสกลายพันธุ์ได้ดี ขณะที่ประเทศไทยเองมีแนวคิดในการนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์มาฉีดให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี รวมถึงประชาชนทั่วไป
ล่าสุดในช่วงเช้าวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามสัญญาร่วมกับบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และไบออนเทค ในการจัดส่งวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 20 ล้านโดส โดยกำหนดแผนส่งมอบในไตรมาสที่ 4ของปีนี้ แต่ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับมูลค่าการซื้อขาย รวมถึงแผนบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ในรอบนี้
ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์ที่ไทยได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกาจำนวน 1.5 ล้านโดสที่จะมาถึงในวันที่ 29 ก.ค. นั้น จะฉีดให้กับ 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่
1.บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด19 (Booster Dose จำนวน 1 เข็ม)
2. ผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง
3. ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง
4. ผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวในที่ประชุมว่า นอกจากวัคซีนซิโนแวคและไฟเซอร์ที่จะนำเข้ามา 20 ล้านโดสในไตรมาส 4 นี้ กรมยังเตรียมเจรจาเพิ่มอีก 50 ล้านโดส
โดยวัคซีนจะเน้นกระจายไปที่กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะในพื้นที่ระบาดสูง แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่าจะสั่งซื้อและนำเข้าเมื่อใด
โขกราคา “โมเดอร์นา”
สำหรับความคืบหน้าของการสั่งซื้อและนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา อีกหนึ่งวัคซีน mRNA ที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นตัวแทนภาครัฐในการนำเข้านั้น ขณะนี้มีโรงพยาบาลเอกชนทยอยเข้ามาลงนามในสัญญาซื้อ-ขายและรับชำระเงินค่าวัคซีนจากแล้วตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา
คาดว่าจนถึงวันที่ 21 ก.ค. นี้ โรงพยาบาลเอกชนทั้ง 285 แห่งจะเข้ามาเซ็นสัญญาจนครบถ้วน ก่อนที่อภ. จะลงนามในสัญญาซื้อ-ขายกับบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของโมเดอร์นาในประเทศไทยต่อไป
ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ที่ทยอยเปิดให้จองฉีดวัคซีนโมเดอร์นาในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ยอดจองวัคซีนหมดภายในระยะเวลารวดเร็วและพบว่า บางโรงพยาบาลเปิดให้จองในราคา 1,800 บาทต่อโดส , 1,900 บาทต่อโดส ซึ่งที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ตามเงื่อนไขของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนคือ 1,650 บาทต่อโดส