นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เปิดเผยว่า หลังจากที่ สปสช.ได้รับการสนับสนุนจากชมรมแพทย์ชนบทในการระดมทีมแพทย์จากพื้นที่ต่างจังหวัดเข้ามาระดมตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกตามพื้นที่ชุมชนต่างๆ ในกทม. รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 21-23 ก.ค.นี้
สำหรับวันที่ 23 ก.ค. จะมีจุดบริการตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกในชุมชน 12 จุดคือ 1.สวนสมเด็จสราญราษฏร์มณีรมย์ 2.เมืองวังทองหลาง 3.วัดสวัสดิวารีสีมาราม 4.วัดหนัง วุฒากาศ42 5.วิทยาลัยการอาชีพ ลาดพร้าว101 6.ชุมชนหมู่บ้านรินทอง 7.ชุมชนเออาทร 2 เขตบางขุนเทียน 8.ชุมชนเคหะคลอง4 9.วัดทองบางเชือกหนัง 10.ลานจอดรถวัดหนองใหญ่ 11.ซอยจตุโชติ20 และ 12.ริมทางรถไฟ กม.11
ซึ่งผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ที่เป็นกลุ่มสีเขียวที่ไม่แสดงอาการหรืออาการไม่รุนแรง จะถูกจัดเข้าระบบการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หรือในชุมชน (Community Isolation) ทั้งหมด โดยอยู่ภายใต้การติดตามดูแลจากโรงพยาบาลหรือคลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่นั้นๆ
ทั้งนี้ การสนับสนุนจากชมรมแพทย์ชนบทในการเข้ามาตรวจคัดกรองเชิงรุกตามชุมชนต่างๆ นี้ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะช่วยกันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน
"ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ใน กทม. ตอนนี้มีการระบาดเป็นวงกว้าง บุคลากรทุกภาคส่วนต่างทำงานอย่างหนัก แต่ความต้องการรับบริการตรวจคัดกรองยังมีอีกจำนวนมาก การได้ทีมแพทย์จากต่างจังหวัดเข้ามาช่วยตรวจ จะแบ่งเบาภาระของบุคลากรในพื้นที่และทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองได้มากขึ้น”
โดยเฉพาะตามชุมชนต่างๆ ซึ่งยังมีกลุ่มคนอีกจำนวนมาก ที่ไม่สามารถเดินทางมายังจุดคัดกรองหลักๆได้ เช่น ผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรหลานพามาตรวจ กลุ่มผู้พิการ เป็นต้น
การลงไปตั้งจุดตรวจถึงในชุมชนจึงเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการ ลดภาระการเดินทาง และหากพบผู้ติดเชื้อก็จะได้รีบนำเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาอย่างทันการณ์ ลดการแพร่กระจายเชื้อได้มากขึ้น
ด้านนพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าวว่า การลงพื้นที่ตรวจคัดกรองโควิด-19 ในรอบที่ 2 นี้จะสแกนพื้นที่ชุมชนที่อยู่กันอย่างหนาแน่น โดยมีทีมจากจังหวัดต่างๆเข้าร่วมปฏิบัติการประมาณ 150 คน แบ่งเป็น 16 ทีม เฉลี่ยทีมละ 7-10 คน
คาดว่า จะสามารถตรวจคัดกรองโควิดด้วย Antigen Test Kit ได้ประมาณ 12,000-15,000 ราย
"หลักการทำงานในครั้งนี้คือไม่หมดไม่เลิก เพราะเมื่อชาวบ้านเขามารอเราแล้ว เราต้องตรวจให้หมด ดูแลเขาให้ดี จะดึกดื่นก็ต้องตรวจจนหมด ออกผลการตรวจให้เรียบร้อย แล้วจึงเก็บของกลับที่พัก”นพ.สุภัทร กล่าว
นพ.สุภัทร กล่าวอีกว่า ขณะนี้หลายๆ หน่วยงานกำลังพยายามให้บริการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี rapid test แล้ว คาดว่าอีก 1-2 เดือน ปัญหาการไม่มีหน่วยงานรับตรวจโควิดก็จะค่อยๆคลี่คลายไปแต่ระหว่างที่จุดตรวจโควิดยังหายาก และคนด้อยโอกาสในชุมชนยังเข้าไม่ถึงบริการ
"ชมรมแพทย์ชนบทพร้อมทีมสาธารณสุขจากทุกภาคจึงอาสามาร่วมบรรเทาทุกข์และช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงบริการการตรวจโควิดให้มากที่สุดตามกำลังที่มีก่อน"
สำหรับทีมแพทย์ชนบท 16 ทีมคือ 1.ทีมจะนะ จ.สงขลา 2.ทีมนาทวี จ.สงขลา 3.ทีมนครศรีธรรมราช 4.ทีมขอนแก่น 5.ทีมเชียงราย 6.ทีมด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี 7.ทีมปัว จ.น่าน 8.ทีมลำลูกกา จ.ปทุมธานี 9.ทีมชัยภูมิ
10.ทีมลพบุรี 11.ทีมสุโขทัย 12.ทีมไทรงาม จ.กำแพงเพชร 13.ทีมบางกรวย2 จ.นนทบุรี 14.ทีมสุรินทร์ (กาบเชิง-ปราสาท) 15.ทีมปาดังเบซาร์ จ.สงขลา 16.ทีมยโสธร