ใครๆ ก็อยากได้ของถูก พ่อค้าที่จะลงทุนก็ต้องการวัตถุดิบหรือสินค้าในราคาถูก เพื่อมาจำหน่ายให้ได้ผลกำไรมากๆ ในด้านผู้บริโภคก็อยากได้สินค้าราคาถูกเพื่อลดค่าครองชีพ สามารถจับจ่ายใช้สอยในราคาประหยัด มีเงินเหลือเก็บเพื่อใช้ในการอื่นๆ อย่างพอเพียง
ใครๆ ก็อยากได้อะไรที่รวดเร็ว เวลาเข้าคิวรับบริการเราก็ไม่อยากเสียเวลามาก ขับรถขับราไปทำงานก็อยากใช้เวลาให้น้อยที่สุด นักลงทุนที่ลงเงินไป ก็หวังการกลับคืนทุนในเวลาอันสั้น คนป่วยยิ่งไม่อยากป่วยนาน
ของดีนั้นใครๆ ก็ชอบ ทั้งในสิ่งที่เป็นรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูดี เช่น แพ็กเกจจิ้งสวยๆ หรูๆ หรือ คนที่แต่งกายภายนอกสะอาดเรียบ ร้อยดูดี และดีในด้านคุณภาพภายใน เช่น สินค้ามีความคงทนแข็งแรงใช้ได้นาน มีสมรรถนะสูง หรือถ้าเป็นคนก็เป็นเรื่องความรู้ ความสามารถดี จิตใจดี ทำตัวเป็นประโยชน์ต่อสังคม
แต่ ถูก เร็ว และดี นั้นไม่มีในโลก
คนที่เรียน MBA ย่อมรู้จัก สามเหลี่ยมแห่งการบริหารโครงการ หรือ Project Management Triangle ว่าปัจจัยที่ต้องคำนึงจากความสำเร็จในการบริหารโครงการนั้น มี 3 ด้าน คือ 1. ต้นทุนค่าใช้จ่าย (Cost/Resource) ที่ใช้ในการบริหารโครงการโดยประหยัด 2. กรอบเวลาหรือกำหนดการในการทำงาน (Time/Schedule) ที่ต้องเร่งรัดดำเนินการให้เป็นไปตามกำหนด และ3. คุณภาพหรือขอบเขตการทำงาน (Quality/Scope) ที่ต้องทำให้ดีและสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการดังแสดงให้เห็นในภาพ
3 เหลี่ยมดังกล่าว แสดงถึง 3 ด้านที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก เราต้องการโครงการที่ลดต้นทุน มีค่าใช้จ่ายตํ่า ใช้ทรัพยากรแต่น้อย และต้องการงานที่ดีมีคุณภาพ และทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดเวลา ใช้เวลาที่รวดเร็วในการดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม การบริหารโครงการ ได้อย่างย่อมเสียอย่าง เมื่อมุ่งหวังในสิ่งหนึ่งอาจมีผลตามมาอีกสิ่งหนึ่ง
เขาใช้ แผนภาพของเวนน์ (Venn’s Diagram) หรือแนวคิดเรื่อง set ในการอธิบายผลจากการมุ่งเน้นในแต่ละคู่ดังนี้
เมื่อถอดเป็นสมการ เราจะได้สมการที่สำคัญ 4 สมการ คือ
1. Speed + Quality = Expensive เมื่อใดก็ตามอยากได้ของดีด้วยและเร็วด้วย ต้อง “ยอมจ่ายมากขึ้น”
2. Quality + Cost = Slow อยากได้ของดีมีคุณภาพแต่ไม่ยอมจ่าย ก็ต้อง “ช้าหน่อย”
3. Cost + Speed = Low Quality จ่ายก็น้อยแต่อยากได้เร็ว คงได้แต่ “ของไร้คุณภาพ”
4. Speed + Quality + Cost = Impossible อยากได้เร็ว ดี ราคาถูก คงได้แต่ “ในความฝัน”
เป็นแง่คิดให้ผู้บริหารโครงการและผู้บริหารบ้านเมืองทั้งหลายได้มุมมองว่า ได้อย่างต้องเสียอย่าง ไม่มีอะไรที่ได้ไปเสียทุกเรื่อง ขึ้นอยู่กับจะยอมจ่ายมากขึ้น เพื่อให้ได้สิ่งดีๆ มาในเวลาที่รวดเร็ว แต่หากตระหนี่ ไม่ยอมจ่ายไม่ยอมลงทุน ก็ต้องรู้ว่าต้องยอมเสียเวลามากขึ้น ยิ่งหากจะเอาเร็วแต่ไม่ยอมลงทุนใดๆ ผลที่ได้ก็จะได้ของที่รีบๆ ลวกๆ สุกเอาเผากิน หาของที่มีคุณภาพได้ยาก
ส่วนในสมการสุดท้าย เป็นสิ่งเตือนสติผู้บริหารว่า การบริหารโครงการให้ได้ผลทั้งคุณภาพ ในเวลารวดเร็ว และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ตํ่า นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากยิ่ง อย่าได้จินตนาการหรือฝันไปกับผลที่สมบูรณ์แบบโดยไม่ยอมแลกเปลี่ยนใดๆ
เปรียบไปทางการเมือง เหมือนการตั้งพรรคการเมืองใหม่อย่างเร็วๆ ไม่ยอมลงทุน แต่หวังจะได้ ส.ส.จำนวนมาก คงไม่ใช่เรื่องง่าย
ถูก เร็ว ดี ไม่มีจริงในโลกครับ
|บทความ : Management Tools
|โดย : สมชัย ศรีสุทธิยากร สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6 ฉบับ 3389 ระหว่างวันที่ 5-8 ส.ค.2561