หากเอ่ยชื่อ โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ มังกรตัวที่ 3 ของตระกูล “จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นน้องคนที่ 3 ของ “สรรเสริญ จุฬางกูร” และเป็นพี่ชาย “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็น Low Profile แต่ High Profit มุ่งมั่นทำธุรกิจแบบเรียบง่าย ไม่ชอบเปิดตัว แต่ชื่อของ “โกมล” บ่อยครั้งปรากฏออกมาในตลาดหุ้น ด้วยการถือหุ้นหลายบริษัท ที่นักลงทุนคิดโยงใยว่าเขามีส่วนกับการเก็งกำไรหุ้นร้อนหลายตัวในตลาด โดยไม่รู้ว่าเขาคือแหล่งเงินทุนที่นักธุรกิจรายใหญ่ ต่างก็วิ่งมาหาเขา
โอกาสที่ “โกมล” จะปรากฏตัวกับสื่อไม่ใช่เรื่องง่าย แต่วันนี้ “โกมล” เป็นมังกรที่ยอมออกจากถํ้าอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเขามีวัตถุประสงค์และภารกิจสำคัญ ที่ต้องการจะสื่อกับนักลงทุน นั่นก็คือ การเข้ากอบกู้ฟื้นฟูกิจการให้กับบริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิล เอนจีเนียริงฯ หรือ IEC ในสถานการณ์เร่งด่วนที่ต้องการคนที่มีความรู้ ความสามารถ กำลังพล พร้อมกำลังทรัพย์ เข้ามาบริหารงานอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่มาสูบผลประโยชน์ออกไปจากบริษัท เหมือนที่ผ่านมา ที่เคยมีอดีตผู้บริหารดีแทค ที่ผู้ถือหุ้นรายย่อย เคยฝากความหวังเข้ามาบริหารให้กิจการมีกำไร กลับมาจ่ายปันผลได้ แต่สุดท้ายก็ล่ม มีคดีฟ้องร้องติดตัวออกไป
[caption id="attachment_217061" align="aligncenter" width="353"]
โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ[/caption]
ย้อนไป 4 ปีก่อน “โกมล” นักธุรกิจและนักลงทุนรายใหญ่ที่หาตัวจับยาก ที่ไม่มีใครรู้ว่าเขาหลงเชื่อถลำลึกเข้ามาลงทุน IEC จากการชักชวนและเชื่อในตัวของ “ดร.อดีตมือดีของ ดีแทค” เพิ่มทุนไป-มา กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในที่สุด ปล่อยให้ “ดร.ภู” บริหารเกิดการทุจริต เป็นคดีความ เมื่อ IEC “ขาดเจ้าภาพ” ที่จะมาบริหารให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ ผู้ถือหุ้นกว่า 25,000 คน ถูกลอยแพ บริษัทมีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าแผนฟื้นฟู ในฐานะที่ “โกมล” ถือหุ้นใหญ่กว่า 4% ไม่ต้องการเห็นความเสียหายเกิดขึ้นกับ IEC อีกครั้ง จึงตัดสินใจปฏิบัติการ “กอบกู้” IEC และประกาศเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม สัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคาขายหุ้นละ 0.125 บาท หรือ 1 สตางค์เศษเท่านั้น ซึ่งวันที่ 20 ตุลาคม 2560 นี้ เป็นวันตัดสินใจของผู้ถือหุ้นที่จะร่วมกันชี้ชะตาอนาคตของ IEC ร่วมกับ “โกมล”
นักลงทุนที่ไม่รู้จัก “โกมล” วันนี้ “ขาใหญ่” อาสาพาไปรู้จักเขามากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ถือหุ้นรายย่อย IEC ตัดสินใจที่จะเดินร่วมทางไปกับเขาได้อย่างสบายใจ
++จากธุรกิจส่วนตัวสู่ APURE
“โกมล” เป็นนักธุรกิจที่มากด้วยกิจการในฐานะเจ้าของ 100 % ทุกธุรกิจที่ทำประสบความสำเร็จ ปราศจากปัญหาสภาพคล่อง เขาเป็นเจ้าของธุรกิจรองเท้า แอร์โรซอฟท์ ที่ผลิตเดือนละ 2 ล้านคู่ ส่งออกไปขายต่างประเทศเป็นหลัก 70% โดยมีตลาดหลักอยู่ที่ตะวันออกกลาง, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของสนามกอล์ฟไพน์เฮิร์สท ย่านรังสิต อพาร์ตเม้นต์ให้เช่าหลายหมื่นยูนิต ย่านรังสิต เจ้าของรับเหมาก่อสร้าง ไปจนถึงโรงงานผลิตเคมีสำหรับงานเคลือบหลังคากระเบื้อง และถือหุ้นใหญ่กว่า 60% ในบริษัท อกริเพียวโฮลดิ้งส์ฯ (APURE)
5-6 ปีก่อน APURE มีสภาพไม่ต่างจาก IEC ธุรกิจผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานส่งออกดี แต่ประสิทธิภาพการบริหารจัดการของอดีตผู้บริหารและผู้ถือหุ้นเก่า ทำให้บริษัทประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ในที่สุด “โกมล” ก็ต้องออกมาแสดงฝีมือการบริหารด้วยตัวเอง ตั้งแต่การซ่อมบำรุงเครื่องจักรการผลิตใหม่ทั้งหมด ด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งมีความรู้ช่างเครื่องเป็นอย่างดี ช่วยประหยัดต้นทุนได้อย่างมากให้กับ APURE และไม่เพียงแค่การลงแรงดูเครื่องจักร เขายังลงมาคลุกกับการปรับปรุงคุณภาพการผลิตที่ให้ผลผลิตต่อหน่วยที่สูง ผลิตเม็ดพันธุ์ข้าวโพดที่มีคุณภาพ การบริหารจัดการผลประโยชน์ให้กับชาวไร่ข้าวโพด ทำให้ APURE ฟื้นจากบริษัทขาดทุน สู่บริษัทที่กลับมาสร้างกำไร ในเวลาไม่นานนัก ผลงานเป็นที่ประจักษ์ จากตัวเลขกำไรของ APURE ในปี 2559 ที่ผ่านมา สร้างสถิติสูงสุด 191 ล้านบาท เติบโตจากปี 2558 ที่มีกำไร 96 ล้านบาท โตเกือบเท่าตัว และปี 2557 มีกำไรเพียง 79 ล้านบาท ในที่สุดกลับมาจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ปีละ 2 ครั้ง เป็นที่ประจักษ์อยู่ขณะนี้
แล้วมีเหตุผลใดๆ ที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยกว่า 25,000 คน จะไม่เลือกคนที่มีความตั้งใจ มีศักยภาพพร้อมทั้งเงินและบุคลากร โปร่งใส ไม่เอาเปรียบ ทำร้ายผู้ถือหุ้น และพร้อมทำธุรกิจใหม่ๆ ที่จะใส่เข้ามา รวมทั้งปรับปรุงธุรกิจเดิมที่มีอยู่ให้เดินหน้าต่อไปได้ ก่อนจะตายหมู่ ปล่อยให้ IEC เดินเข้าแผนฟื้นฟูในเวลาอันใกล้นี้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,303 วันที่ 8 - 11 ตุลาคม พ.ศ. 2560