นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดี กรมสรรพสามิตเปิดเผยภายหลังการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกลุ่มยานยนต์ และผู้ประกอบการยานยนต์ทุกค่ายถึงการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า(EV)ว่า ได้ข้อสรุปการส่งเสริมและพัฒนารถยนต์ EV แล้ว ซึ่งจะออกมาในรูปแบบการจัดทำเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) กองทุนส่งเสริมและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการการกำจัดแบตเตอร์รี่สำหรับรถยนต์ EV อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้กรมสรรพสามิตจะเสนอร่างหลักการดังกล่าวให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาในหลังปีใหม่ 2563 ทันที หลังจากเห็นชอบจะจัดทำประชาพิจารณ์ ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบและจัดทำเป็นพ.ร.บ.ตามกระบวนการ เพื่อมีผลบังคับใช้ต่อไป แต่ยอมรับไม่น่าจะทันใช้ในปี 2563 เนื่องจากกระบวนการตามกฎหมายค่อนข้างใช้เวลานาน อย่างไรก็ตามหากพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ เชื่อว่าในช่วงแรกจะมีเงินเข้ากองทุนในปีแรกประมาณ 10 ล้านบาทได้
หลักการเบื้องต้นของกองทุนส่งเสริมและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้านั้น จัดมีการจัดเก็บค่ามัดจำแบตเตอร์รี่เข้ากองทุนดังกล่าวสำหรับผู้บริโภคที่ใช้รถยนต์ EV ในอัตราไม่เกิน 1,000 บาทต่อหน่วย เพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียนในการบริหารจัดการการติดตามการกำจัดแบตเตอร์รี่เก่าที่หมดอายุการใช้งานตามกำหนดแล้ว ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับเงินมัดจำคืนหลังส่งแบตเตอร์รี่เก่าคืนให้กับค่ารถยนต์ที่ออกแบตเตอร์รี่ เพื่อนำไปทำลายอย่างถูกต้อง และไม่เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ตกค้างในประเทศ
“อัตราเก็บไม่เกิน 1,000 บาทต่อแบตเตอร์รี่ 1 ลูกนั้น น่าจะเป็นอัตราที่เหมาะสม และไม่เป็นภาระให้กับผู้ใช้รถยนต์ EV มากนัก และเมื่อถึงเวลาแบตเสื่อมก็นำมาคืนให้ค่ารถยนต์ที่ซื้อมาเพื่อไปทำลายต่อ กองทุนก็จะคืนเงินมัดจำส่วนนี้ให้ ซึ่งกองทุนนี้จะนำไปเก็บเพื่อสำรองไว้ และนำไว้ใช้ดูว่าค่ายรถยนต์นำแบตเตอร์รี่ไปทำลายทิ้งถูกต้องหรือไม่ ไม่ว่าจะทำลายในประเทศหรือในต่างประเทศ แล้วแต่ค่ายรถยนต์บริหารได้เอง เรามีหน้าที่เข้าไปติดตามดู”นายพชร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากการบริหารจัดการการกำจัดแบตเตอร์รี่รถ EV มีประสิทธิภาพ ในอนาคตกรมอาจจะมีการแก้ไขพ.ร.บ.ให้เก็บค่ามัดจำการใช้แบตเตอร์รี่ในสินค้าประเภทอื่นด้วย แต่ต้องดูว่าแบตเตอร์รี่ดังกล่าว สามารถรีไซเคิ้ลได้หรือไม่ เพราะในปัจจุบันแบตเตอร์รี่รถยนต์ธรรมดาทำมาจากตะกั่วกรด ที่สามารถรีไซเคิ้ลได้ ขณะที่แบตเตอร์รี่รถ EV ทำมาจากนิกเกิ้ลไอออนและลิเทียมไฮไดรด์ ที่ต้องกำจัดทิ้งเท่านั้น
ส่วนการหารือถึงการกำจัดซากรถยนต์เก่านายพชร กล่าวว่า ในที่ประชุมไม่ได้หารือในเรื่องดังกล่าว และไม่ได้สอบถามถึงการจัดเก็บภาษีรถยนต์เก่าด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพสามิต เพราะภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์จะเก็บเพียงครั้งเดียวจากหน้าโรงงานเท่านั้น ดังนั้นการเก็บภาษีระหว่างทางนั้น ต้องเป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกที่จะคิดภาษีป้ายรถยนต์ในแต่ละปีตามการใช้งานของรถยนต์มากกว่า