สถานการณ์ไวรัสโคโรนา หรือไวรัสอู่ฮั่นนอกจากมีการแพร่ระบาดในจีนแล้ว ยังลามไปในอีก 18 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย เสียชีวิตกว่า 100 ราย ติดเชื้อกว่า 3,500 ราย ติดเชื้อขั้นรุนแรง 1,500 ราย เฝ้าระวังพิเศษ 6,500-14,000 ราย (ข้อมูล ณ 28 ม.ค. 63) ซึ่งขณะนี้แต่ละประเทศได้ออกมาตรการรับมือกันอย่างเต็มพิกัด องค์การอนามัยโลก (WHO)ได้ออกมายอมรับความผิดพลาดในการประเมินไวรัสมรณะในจีน โดยแก้ไขระดับความเสี่ยงจากทั่วโลกจากระดับ “ปานกลาง” เป็น
ระดับ “สูง” แล้ว ขณะที่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศเริ่มมากขึ้นทุกขณะ
เกิน3เดือนจีดีพีไทยวูบ 1.5%
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางศูนย์ได้ประเมินผลกระทบเศรษฐกิจไทย กรณีไวรัสโคโรนา โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ กรณีปกติหรือเหตุการณ์จบลงภายในไตรมาสที่ 1/2563 หรือใน 3 เดือน และกรณีเลวร้ายหรือสถานการณ์ลุกลามมากกว่า 3 เดือน โดยกรณีจบเร็วใน 3 เดือนจะส่งผลกระทบทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยลดลง 1 ล้านคน หรือลดลง 10% (ปี 2562 จีนเที่ยวไทย 11 ล้านคน) รายได้ไทยจากนักท่องเที่ยวจีนลดลง 45,000 ล้านบาท และนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลง 5 แสนคน รายได้ไทยลดลงอีก 30,000 ล้านบาท รวมลดลง 75,000 ล้านบาท
กรณีมากกว่า 3 เดือน นักท่องเที่ยวจีนมาไทยลดลง 2 ล้านคน (ลดลง 15-20%) รายได้ไทยลดลง 90,000 ล้านบาท และนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 1 ล้านคน รายได้ไทยลดลง 60,000 ล้านบาท รวมรายได้ท่องเที่ยวลดลง 150,000 ล้านบาท
ขณะที่การส่งออกไทยไปจีน กรณีจบเร็วใน 3 เดือนจะลดลงประมาณ 9,405 ล้านบาท หรือลดลง 1.03% (คำนวณจากฐานข้อมูลส่งออกไทยไปจีนย้อนหลัง 15 ปี เฉลี่ยปีละ 9.13 แสนล้านบาท) และกรณีมากกว่า 3 เดือนส่งออกไทยไปจีนจะลดลง 19,819 ล้านบาท หรือลดลง 2.5% และการลงทุนของจีนในไทยกรณีจบเร็วใน 3 เดือนจะลดลง 233 ล้านบาทหรือลดลง 1.12% (คำนวณจากฐานจีนลงทุนไทยย้อนหลัง 15 ปี เฉลี่ยปีละ 2.08 หมื่นล้านบาท) และกรณีมากกว่า 3 เดือนจะลดลง 566 ล้านบาท หรือลดลง 2.4%
ทั้งนี้เมื่อรวมผลกระทบภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และการลงทุนจากกรณีไวรัสโคโรนาทั้งหมดต่อประเทศไทย กรณีจบเร็วใน 3 เดือน คิดเป็นมูลค่ารวม 84,633 ล้านบาท และกรณีมากกว่า 3 เดือน คิดเป็นมูลค่ารวม 170,385 ล้านบาท ขณะที่ในภาพรวมจะส่งผลกระทบจีดีพีไทย กรณีเหตุการณ์จบเร็วใน 3 เดือนจะกระทบจีดีพีไทยปีนี้ลดลง 0.5% มูลค่า 79,376 ล้านบาท และกรณีมากกว่า 3 เดือนจะกระทบจีดีพีลดลง 1-1.5% มูลค่า 238,129 ล้านบาท
วิกฤติ-โอกาสอาหารไทย
“ไวรัสโคโรนาจะกระทบภาคการบริโภคในจีนลดลง ท่องเที่ยวจีนในต่างประเทศจะลดลง และภาคการขนส่งทั้งภายในและนอกประเทศจะลดลง เฉพาะอย่างยิ่งเมืองอู่ฮั่นที่เป็นจุดขนถ่ายสินค้าระหว่างตอนเหนือของจีนเข้ามายังมณฑลชั้นใน รวมถึงสินค้าจากต่างประเทศที่เข้าไปยังอู่ฮั่นจากมีการปิดเมือง และควบคุมการเข้าออกในหลายมณฑล จะกระทบต่อเนื่องถึงการนำเข้าสินค้าของจีนจากต่างประเทศลดลง ทำให้การส่งออกของทุกประเทศที่เข้าไปยังจีนในช่วงนี้ลดลง โดยภาพรวมจะกระทบในไตรมาสแรกมากที่สุด แต่ส่วนตัวมองเหตุการณ์น่าจะคลี่คลายในไตรมาสแรกนี้ 80%
อย่างไรก็ดีอีกด้านหากสถานการณ์จบเร็วในไตรมาสแรกนี้คาดจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทยไปจีนเฉพาะอย่างยิ่งอาหารและเครื่องดื่ม ที่คาดเหตุการณ์จะทำให้สต๊อกสินค้าในจีนเหลือน้อย และมีความต้องการนำเข้าเพิ่ม ซึ่งผู้ประกอบการไทยทั้งรายเก่าและรายใหม่ต้องเตรียมตัวนำสินค้าไทยเข้าไปเจาะตลาดจีนเพิ่ม
สอดคล้องกับนายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยที่กล่าวว่า แม้จะมีสถานการณ์ไวรัสโคโรนาระบาดในจีน คำสั่งซื้อสินค้าไก่จากจีนยังมีเข้ามาต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นในการบริโภค ซึ่งปี 2562 จีนมีการนำเข้าสินค้าไก่จากไทยกว่า 6 หมื่นตัน เพิ่มจากปี 2561 นำเข้า 1.8 หมื่นตัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 233% จากเวลานี้จีนยังมีปัญหาโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกรระบาด ทำให้ต้องการไก่เข้าไปบริโภคแทนหมูเพิ่มขึ้น
คลังดันชิมช้อปใช้4สู้ศึก
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า การระบาดของไวรัสโคโรนา ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงไทย ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) คิดมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยเน้นการท่องเที่ยวในประเทศผ่านโครงการชิมช้อปใช้ 4 เพื่อชดเชยผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนที่หายไปในช่วงที่เกิดโรคระบาด โดยให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เบื้องต้นจะให้สิทธิ์ครอบคลุมทั้งผู้ลงทะเบียนเดิมแลเปิดลงทะเบียนใหม่ทั้งประชาชนและร้านค้า จากปัจจุบันมีประชาชนได้รับสิทธิ์อยู่แล้ว 12.6 ล้านคน ร้านค้า 1.7 แสนราย
สำหรับงบประมาณจะใช้กรอบวงเงินเดิมที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติไว้ที่ 19,000 ล้านบาท ซึ่งยังเหลืออยู่ 5,000 ล้านบาท จึงไม่เกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ที่ยังใช้ไม่ได้ ซึ่งจากการประเมินโครงการชิมช้อปใช้ 1-3 ที่ผ่านมา ถือว่าคุ้มค่ากับงบประมาณที่จ่ายไปเพราะสามารถกระตุ้นการบริโภคในประเทศได้ดี ดังนั้นหากนำมาใช้อีกก็จะได้ผลดีเช่นกัน
ขณะที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ ต้องให้สศค.ทบทวนตัวเลขใหม่ว่าจะขยายตัวได้ 3.3% ตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ เพราะธนาคารโลกได้มีการปรับลดจีดีพีโลกปีนี้ลง ดังนั้นต้องพิจารณาให้เหมาะสม เพราะยอมรับว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นมาใหม่
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3544 วันที่ 30 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2563