หลังจากที่เกิดปัญหาการใช้วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าพิเศษ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารออมสิน 8 หมื่นล้านบาท สำหรับผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ที่ยังคิดดอกเบี้ยกับลูกค้าในอัตราสูง ล่าสุดได้รับการยืนยันจากกระทรวงการคลังว่า เท่าที่ได้รับรายงานขณะนี้ยังไม่มีนอนแบงก์รายใดได้ซอฟต์โลนจากออมสิน เพราะออมสินเข้มงวดในการปล่อยมาก นอกจากจะดูรายละเอียดของพอร์ตสินเชื่อแล้ว ยังดูถึงระดับหนี้สินต่อทุนอีกด้วย ยังไม่มีนอนแบงก์รายใดได้ซอฟต์โลนจากออมสิน เพราะออมสินเข้มงวดในการปล่อยมาก นอกจากจะดูรายละเอียดของพอร์ตสินเชื่อแล้ว ยังดูถึงระดับหนี้สินต่อทุนอีกด้วย
นอกจากนั้นในการขอเบิกเงินซอฟต์โลนตามวงเงินที่ได้รับอนุมัติไม่เกิน 10% ของพอร์ตสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 5,000 ล้านบาทต่อรายนั้น นอนแบงก์จะต้องช่วยเหลือลูกค้าเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้มากกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กำหนด โดยให้นำพอร์ตลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือมาขอเบิกเงินซอฟต์โลนเป็นล็อตๆ และหลังจากได้ซอฟต์โลนไปแล้ว ธปท.จะไปตรวจสอบในภายหลังว่า ได้มีการช่วยเหลือลูกค้าตามที่แจ้งไว้หรือไม่ จึงจะสามารถมาเบิกล็อตต่อไปได้
ขณะที่นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าซอฟต์โลน วงเงิน 8 หมื่นล้านบาทที่อยู่ระหว่างจัดสรรให้กับนอนแบงก์ว่า ธนาคารจะเสนอคำขอซอฟต์โลนของกลุ่มนอนแบงก์ล็อตแรก 2.3 หมื่นล้านบาท ต่อที่ประชุมคณะกรรมการของธนาคาร (บอร์ดใหญ่) ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 นี้ โดยคำขอซอฟต์โลนส่วนใหญ่ มีวงเงินค่อนข้างสูง 4-5 พันล้านบาทต่อบริษัท ส่วนการอนุมัติวงเงินต้องขึ้นอยู่กับบอร์ดพิจารณา
ส่วนประเด็นการคิดค่าธรรมเนียมลูกค้า สำหรับซอฟต์โลนของ ธนาคารออมสิน และธปท.ที่อยู่ระหว่างจัดสรรให้กับสถาบันการเงินแหล่งข่าวระบุว่า ที่ผ่านมาเกิดความสับสนช่วงรอยต่อ เนื่องจากสถาบันการเงินบางแห่งได้ยื่นขอใช้ซอฟต์โลนกับออมสิน แต่เบิกซอฟต์โลนไม่ทัน เพราะธนาคารออมสินจะพิจารณาตามลำดับก่อนหลัง ทำให้สถาบันการเงินเปลี่ยนไปใช้ซอฟต์โลนของ ธปท.แทน
“เข้าใจว่าช่วงรอยต่อคือ พอสถาบันการเงินพลาดหรือไม่ได้รับซอฟต์โลนจากออมสิน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าได้ทำตลาดเสนอวงเงินลูกค้าบวกค่าธรรมเนียมแล้ว แต่เปลี่ยนมาใช้ซอฟต์โลนธปท. ซึ่งกำหนดไม่ให้คิดค่าธรรมเนียมใดๆ รวมทั้งดอกเบี้ยผิดนัด(ดอกเบี้ยปรับ) ซึ่งสถาบันการเงินต้องชี้แจงกับลูกค้าและคืนเงินค่าธรรมเนียมกับลูกค้า แต่หากสถาบันการเงินดังกล่าวยังยื้อหรือคิดค่าธรรมเนียมอยู่ก็ถือเป็นการท้าทายรัฐ”
ล่าสุดธปท.ได้ออกแนวปฏิบัติในการรับยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมจำนองหลักประกัน จากการให้สินเชื่อตามมาตรการในพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด (5 พ.ค.63) โดยแนวปฏิบัติดังกล่าว เป็นสิทธิประโยชน์ทางกฎหมายตั้งแต่ต้น แต่มีประเด็นภายหลังนำไปปฏิบัติระหว่างหน่วยงาน คือ กรมที่ดิน กรณีจดจำนองอสังหาริมทรัพย์หรืออาคารชุด และกรมการค้ากระทรวงพาณิชย์จดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจเรื่อง จดนิติกรรมจำนองอสังหาริมทรัพย์นั้น ธนาคารที่มีหลักประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์อาจจะต้องยกเว้นภาระดังกล่าวให้ลูกค้าหรือรับภาระไปก่อนแต่สามารถเรียกคืนจากกรมที่ดิน
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,574 วันที่ 14 - 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2563