เยอรมนี ชื่นชม “จีน” พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ให้เป็นสินค้าสาธารณะของโลก คืบหน้าผลหารือทางยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่าง 2ประเทศ
วันนี้ ( 13 มิ.ย.63) พล.ต.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการหารือทางยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศจีนกับเยอรมนี ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
1.เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 63 ได้มีการประชุมทางไกลผ่านวีดิทัศน์ระหว่างนายกรัฐมนตรีจีนกับนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี โดยทั้งสองฝ่ายได้ย้ำถึงการมีผลประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ
1.1 นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน กล่าวเน้นว่า โควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างฉุกเฉิน ได้สร้างผลกระทบต่อการไปมาหาสู่และความร่วมมือระหว่างจีน-เยอรมนี แต่ความร่วมมือระหว่างกันไม่ได้หยุดชะงักจากโรคระบาดดังกล่าวแต่อย่างใด หากแต่จะยังคงมุ่งไปข้างหน้า
โดยจีนยินดีที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นต่อเยอรมนีทั้งทางด้านการเมืองและยุทธศาสตร์บนพื้นฐานแห่งการเคารพซึ่งกันและกัน ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และการอำนวยประโยชน์แก่กัน โดยดำรงไว้ซึ่งการเจรจาหารือและเดินหน้าความร่วมมือในทุกด้าน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างจีน-เยอรมนีให้ก้าวหน้าต่อไป
1.2 นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า จีนใช้ความพยายามอย่างมากในการป้องกันและควบคุมโควิด-19 โดยทั้งสองประเทศได้ดำเนินความร่วมมืออันดีในการต่อต้านโควิด-19 ซึ่งเยอรมนีขอชื่นชมจีนที่เปิดเสรีมากขึ้นและเดินหน้าในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ให้เป็นสินค้าสาธารณะของโลก
ทั้งนี้ เยอรมนีจะมุ่งส่งเสริมความมือกับจีนในทุกด้านต่อไป ตลอดจนสนับสนุนสถาบันวิจัยและผลิตวัคซีนของสองประเทศในการกระชับความร่วมมือให้แน่นแฟ้นกันยิ่งขึ้น
2.ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 3 มิ.ย.63 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้พูดคุยทางโทรศัพท์ กับนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เน้นย้ำว่า จีนยินดีที่จะร่วมกับเยอรมนี ในการสนับสนุนการดำเนินงานขององค์การอนามัยโลก รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้โครงสร้างของสหประชาชาติและกลุ่ม G20 เพื่อร่วมกันสนับสนุนแอฟริกาในการต่อต้านการแพร่ระบาด อันเป็นการสร้างคุณูปการในการรักษาความปลอดภัยทางสาธารณสุขทั่วโลก
ในขณะที่นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ได้แสดงความชื่นชมประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ประกาศว่า วัคซีนที่จีนวิจัยและผลิตออกมา จะเป็นวัคซีนที่ได้ใช้ทั่วโลก ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน อันเป็นการส่งเสริมความสามัคคีระหว่างประเทศและกลไกพหุภาคี ซึ่งมีความสำคัญในการต่อต้านการแพร่ระบาด โดยเยอรมนียินดีที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนกับจีน รวมทั้งสนับสนุนองค์การอนามัยโลก และส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ
3.ข้อสังเกตจากการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับประเทศจีนของ Focus ซึ่งเป็นวารสารรายสัปดาห์ของประเทศเยอรมนี ฉบับวันที่ 13 เม.ย.63 ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “4 สาเหตุที่ควรซื้อหุ้นจีนในช่วงจุดต่ำสุด”
สาระสำคัญ โดยระบุว่า เนื่องจากจีนแทบจะไม่มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ที่ติดเชื้อภายในประเทศแล้ว และเศรษฐกิจของจีนได้กลับคืนสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็วเกินคาด ทำให้นักธุรกิจและนักลงทุนต่างมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในจีนช่วงเวลานี้ ซึ่งมีสาเหตุจากปัจจัย 4 ประการด้วยกัน ได้แก่
3.1 จีนอยู่แถวหน้าของการยับยั้งโควิด-19 ขณะที่ยุโรปและสหรัฐฯ ยังคงเผชิญกับการระบาด แต่จีนสามารถยับยั้งโควิด-19 ได้ อันนำมาซึ่งความหวังในการแก้วิกฤติของโลก และเป็นนัยว่า เศรษฐกิจจีนจะสามารถเร่งความเร็วได้อีกครั้ก
3.2 จนถึงเวลานี้ มีข้อพิสูจน์ให้เห็นว่า ตลาดหลักทรัพย์จีนมีขีดความสามารถในการต้านวิกฤติมากกว่าตลาดหลักทรัพย์ของยุโรปและสหรัฐฯ
3.3 ความมั่นใจของนักลงทุนอาชีพ โดยในช่วงระยะหลังๆ นี้ มีนักลงทุนรายใหญ่ในระดับโลกหลายราย ได้กลับมาสนใจบริษัทจีนอีกครั้ง ด้วยการซื้อหุ้นบริษัท Tencent และบริษัทอื่น ๆ ของจีน
3.4 อุปสงค์ภายในประเทศจีนยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น
บทสรุป เนื่องจากปี 2020 (พ.ศ.2563) นี้ เป็นปีสุดท้ายตามแผนพัฒนาระยะห้าปี ฉบับที่ 13 ในการขจัดความยากจนและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวจีน ขณะที่จีนจะยังคงยืนหยัดแนวทางการใช้ความพยายามในการขจัดความยากจน ควบคู่ไปกับงานป้องกันและควบคุมโรค
โดยเฉพาะการให้ความสำคัญต่อประชาชนจีนและประชาชนทั่วโลกในการสร้างสรรค์ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน ดังนั้น แนวโน้มในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนภายหลังจากการสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโควิด-19จะทำให้จีนมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับประเทศเยอรมนีมากยิ่งขึ้น