ชวดปันผลแบงก์ ไม่สะเทือน! พอร์ตประกันสังคม

25 มิ.ย. 2563 | 01:35 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มิ.ย. 2563 | 09:00 น.

หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์อ่วม หลังธปท.สั่งงดจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งแรก ปี2563 และงดซื้อหุ้นคืน โบรกเผยไม่กระทบการลงทุนของสำนักงานประกันสังคมที่ถือหุ้น 4 แห่ง ชี้ถือระยะยาว และลงทุนในหุ้นอื่นอีกมาก 

หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอให้ธนาคารพาณิชย์ งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล จากผลการดำเนินงานงวดครึ่งปี 2563 รวมถึงงดซื้อหุ้นคืน ในระหว่างจัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนสำหรับระยะ 1-3 ปีข้างหน้า เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์รักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งและรองรับการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป และยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อไป 

รายงานข่าวจากตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า ราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ปรับลดลงอย่างหนัก โดย BBL ปิดที่ 105.00 บาท ลดลง 10.50 บาท หรือ 9.09%, KBANK ปิดที่ 89.25 บาท ลดลง 6.50 บาท หรือ 6.79%, SCB ปิดที่ 71.50 บาท ลดลง 5.75 บาทหรือ 7.44%, KKP ปิดที่ 41.50 บาท ลดลง 2.50 บาท หรือ 5.68%, BAY ปิดที่ 23.30 บาท ลดลง 1.40 บาท หรือ 5.67%, KTB ปิดที่ 10.40 บาทลดลง 0.40 บาท หรือ 3.70%, CIMBT ปิดที่ 0.61 บาท ลดลง 0.02 บาทหรือ 3.17%, TMB ปิดที่ 1.05 บาท ลดลง 0.05 บาท หรือ 4.55%, TISCO ปิดที่ 69.25 บาท ลดลง 4.25 บาท หรือ 5.78% และ LHFG ปิดที่ 1.01 บาท ลดลง 0.05 บาท หรือ 4.72% 

ชวดปันผลแบงก์ ไม่สะเทือน! พอร์ตประกันสังคม

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนักลงทุนสถาบันที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์อย่าง “สำนักงานประกันสังคม”ถูกจับตามองอีกครั้ง จากการถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง คือ BBL, KBANK, SCB และ TISCO ซึ่งมูลค่ารวม ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2563 อยู่ที่ 25,518,416,027.50 บาท ลดลง 2,150,887,127.50 บาท จากวันที่ 19 มิถุนายน 2563 อยู่ที่ 27,669,303,155 บาท โดยข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 เงินกองทุน ประกันสังคมตามงบการเงินมีจำนวน 2,169,172 ล้านบาท ซึ่งมีการจัดสรรเงินกองทุนไปลงทุนทั้งสิ้น 2,032,841 ล้านบาท หรือ 93.72% ของเงินกองทุนสะสมทั้งหมดและมีผลตอบแทนจากการลงทุน จำนวน 31,826 ล้านบาท หรือ 43.76% ของรายรับทั้งหมด 

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ยูโอบี เคย์เฮียน(ประเทศไทย)จำกัดเปิดเผยว่า การงดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลของธนาคารพาณิชย์ ไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากรูปแบบการลงทุนเป็นแบบระยะยาว อีกทั้งยังมีการลงทุนในหุ้นกลุ่มอื่นๆ ที่ยังมีผลตอบแทนที่ดีอีกมาก ทั้งนี้ มองว่า สถานะการเงินของประกันสังคมในช่วง 10 ปีจากนี้ยังไม่มีความกังวล แต่ในระยะยาวมีความเสี่ยงที่เงินชดเชยรับวัยเกษียณอาจจะไม่พอจ่าย เนื่องจากประชากรลดลง และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันการจ่ายเงินของผู้ประกันตนยังอยู่ในระดับปกติ และจะทวีคูณเมื่อครบกำหนด ทำให้ในอนาคตอาจจะกระทบกับสถานะการเงินจากการที่มีผู้เกษียณมากขึ้นได้ 

นอกจากนี้ มองว่า การที่มีสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เข้ามาอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องมีการจ่ายเงินทดแทนการว่างงานกระทันหัน ซึ่งทางรัฐบาล ควรมีการตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยส่วนนี้ให้ ขณะเดียวกัน คาดว่าหากประกันสังคมต้องจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงานประมาณ 950,000 ราย รายละ 9,000 บาท หรือรวมประมาณ 85,500 ล้านบาท อาจทำให้ต้องมีการขายหุ้นเพื่อนำเงินออกมาใช้ในส่วนนี้ โดยจะไม่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย เพราะการขายหุ้นไม่จำเป็นต้องขายในตลาดก็ได้ อาจจะเป็นการขายให้ระหว่างรัฐด้วยกัน หรือหากขายในตลาดก็อาจจะเป็นจำนวนเงินไม่มาก ไม่สร้างผลกระทบกับต่อตลาดหุ้นแน่นอน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท.สั่งแบงก์พาณิชย์ห้าม "จ่ายเงินปันผล - ซื้อหุ้นคืน"

"งดจ่ายเงินปันผล" เข้าทางแบงก์สร้างกันชนเพิ่ม 7 หมื่นล้าน

เปิด 5 อันดับผู้ถือหุ้นใหญ่แบงก์อ่วม งดจ่ายเงินปันผล

ด้านนายธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า การงดจ่ายปันผลระหว่างกาล และงดซื้อหุ้นคืนของธนาคารพาณิชย์ จะเป็นปัจจัยกดดันราคาหุ้นในเชิงจิตวิทยา แต่ผลกระทบจะจำกัดแค่ในส่วนปันผล โดยผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปีของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังมีปัจจัยกดดันหลายด้าน ทั้งจาก NIM ที่จะอ่อนตัวลง และคุณภาพหนี้ที่อาจแย่ลง ทั้งนี้ มองหุ้นที่จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากปัจจัยการลดการจ่ายเงินปันผล และน่าสนใจซื้อเพื่อคาดหวังการรีบาวด์ หากราคาหุ้นมีการปรับลงมาแรง คือ KBANK, TISCO และ SCB 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,586 วันที่ 25 - 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563