การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้แนวโน้มการดำเนินชีวิตและรูปแบบธุรกิจที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปจากวิถีเดิม หรือจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า New Normal แม้ว่าประเทศไทยจะควบคุมโควิด-19 ได้ดี แต่ยังมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของประเทศรอบนอก และตราบใดที่ยังไม่สามารถหาวัคซีนป้องกันได้ โรคระบาดโควิด-19 อาจจะกลับมาระบาดในไทยระลอก 2 ได้ เหมือนกับที่เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น กำลังประสบอยู่ ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นผู้คนจะลดการเดินทางไปในสถานที่ที่มีผู้คนมีความแออัด
สำหรับภาคสถาบันการเงินก็เช่นกัน New Normal จะเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจธนาคารยกระดับบริการและผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองให้กับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียล (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2523-2546) ที่หันมาใช้ดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งหากมองในมุมบวกสำหรับภาคการเงิน นับเป็นการส่งไม้ต่อในการเผชิญหน้ากับคู่แข่งขันอีกระลอก เพราะปัจจุบันแต่ละค่ายต่างอยู่ในช่วงของการลงทุนพัฒนาด้านเทคโนโลยี เพื่อรับมือกับกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่น
โดยเฉพาะการเปิดบัญชีเงินฝากผ่านช่องทางดิจิทัล (e Saving) ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการชำระเงินกำลังทดสอบภายใต้ Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยใช้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนสำหรับการเปิดบัญชีข้ามธนาคาร เพื่อยกระดับการรู้จักลูกค้าของตน(Know Your Customer หรือ KYC) ผ่านแพลตฟอร์ม เนชั่นนัลดิจิทัล ไอดี(Nation Digital ID หรือ NDID)
ล่าสุดธนาคาร กรุงศรี อยุธยาระบุว่า ยอดผู้ใช้งานโมบายแบงกิ้งในระบบเติบโตขึ้นประมาณ 28% จำนวนผู้ใช้งานราว 63 ล้านคน พร้อมเปิดตัวแอปพลิเคชั่น Kept สำหรับการออมเงิน โดยสามารถเปิดบัญชีผ่านระบบยืนยันตัวตนรูปแบบ NDID ไม่ต้องมาที่สาขา หรือยืนยันตัวตนผ่านช่องทาง Krungsri i-CONFIRM ซึ่งเป็นจุดบริการยืนยันตัวตน ทุกสาขาทั่วประเทศ และเสนอแคมเปญพิเศษ สำหรับผู้ที่สมัครสำเร็จภายใต้เงื่อนไขต้องโอนเงินขั้นตํ่า 1,000 บาท 1 รายการภายใน 7 วันนับจากวันสมัครจะได้รับบัตรกำนัล e-Coupon
สตาร์บัคส์ มูลค่า 100 บาท ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 กันยายน 2563
นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้อำนวยการอาวุโสผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เงินฝากในระบบสิ้นไตรมาส 2 ปีนี้ที่เพิ่มขึ้น 14% สะท้อนแนวโน้มบัญชีเงินฝากดิจิทัลรวมอยู่ด้วย โดยจะเห็นว่า บัญชีเงินฝากดิจิทัลเสนออัตราดอกเบี้ยสูงถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับบัญชีเงินฝากประจำในตลาด เพราะทุกธนาคารเน้นไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่หรือกลุ่มวัย Gen และกลุ่มมิลเลนเนียน โดยอยู่ในกลุ่มอายุน้อยกว่า 40ปี ซึ่งจะมีสัดส่วน 80%ของประชากรและเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของธนาคาร
สำหรับการทำธุรกรรม New Normal ต่อไปลูกค้าไม่ต้องไปสาขาของธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารที่จับมือกับร้านสะดวกซื้อ 7-11 จะทำให้การเข้าถึงบริการของธนาคารครอบคลุมไปยังต่างจังหวัดและจะเห็นการเพิ่มขึ้นของฐานเงินฝากโดยรวมในระบบ ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์
“แนวโน้มจะเห็นทุกแบงก์พยายามจะทำให้ขั้นตอนเปิดบัญชีดิจิทัลง่ายและสะดวก ขณะเดียวกันแบงก์สามารถเสนออัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไปเพราะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลูกค้าลดขั้นตอนในการทำธุรกรรมและแบงก์เองก็จะมีต้นทุนตํ่ากว่าการให้บริการผ่านสาขาซึ่งโดยรวมลูกค้าจะได้รับประโยชน์”
นอกจากนั้น ในอีกไม่ช้า ธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ระหว่างทดสอบในแซนด์บ๊อกของธปท.จะสามารถเปิดให้บริการบัญชีดิจิทัลได้ในวงกว้าง ซึ่งธนาคาร ไทยพาณิชย์ได้จับมือกับเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11 นำร่องให้บริการไปแล้ว และแนวโน้มตลาดจับตาว่า ระหว่างธนาคาร กสิกรไทย กับธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารไหนจะสามารถเปิดให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม NDID ก่อน
ด้านนายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก(สคฝ.)กล่าวว่า ด้วยภาวะของเศรษฐกิจและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนมีทางเลือกไม่มากในการลงทุน จึงเห็นการนำเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์มากขึ้น เพราะสภาวะเศรษฐกิจยังมีความท้าทายอีกระยะหนึ่งจนกว่าโควิด-19 จะคลี่คลายทั่วโลก ประกอบกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับตํ่า รวมทั้งอัตราผลตอบแทนจากเงินฝากที่ไม่สูงนัก แต่การฝากเงินก็เป็นแนวทางที่จะพักเงินได้อย่างปลอดภัยกว่าการลงทุนในรูปแบบอื่น ที่แม้จะมีผลตอบแทนสูง แต่มีความเสี่ยงต่อเงินต้น ดังนั้นประชาชนควรกระจายความเสี่ยงส่วนหนึ่งไว้ในบัญชีเงินฝากบ้าง แม้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะอยู่ในระดับตํ่า
“แนวโน้มเงินฝากที่เพิ่มสูงในระบบแบงก์ รวมทั้งเงินฝากในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจำนวนเงินฝากที่เพิ่มขึ้นก็จะได้รับความคุ้มครองที่วงเงินฝาก 5 ล้านบาทต่อคนต่อแบงก์ โดยปัจจุบันมีสถาบันการเงิน 36 แห่งที่อยู่ภายใต้การได้รับความคุ้มครองของสคฝ. แต่ในแง่ Search for Yield นั้น จะมีความเสี่ยง 2 ส่วนคือ ความเสี่ยงจากผลตอบแทน โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงต่อเงินต้น จึงแนะนำประชาชนกระจายความเสี่ยงและหาที่พักเงินในบัญชีเงินฝากบ้าง”
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,590 วันที่ 9 - 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2563